จุฬาฯ ส่ง “รถ CU กองหนุน” เสริม “State Quarantine” เข้มแข็ง นวัตกรรมป้องโควิด-19 ระลอกใหม่
เกาะติดสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 สถานการณ์ในหลายประเทศยังคงน่าเป็นห่วง และเสี่ยงที่เชื้อร้ายนี้จะแพร่ระบาดเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นได้จากการเดินทางกลับประเทศของคนไทยที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ในต่างแดน และชาวต่างชาติที่มีเหตุจำเป็นให้ต้องเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร รัฐบาลจึงให้ความสำคัญและออกมาตรการที่เข้มข้นเพื่อให้ State Quarantine และ Local Quarantine ภายใต้การดูแลร่วมกันของกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข เป็นกลไกสำคัญช่วยลดปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกที่อาจเป็นตัวเร่งให้เกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย การบริหารจัดการ State Quarantine และ Local Quarantine เพื่อดูแลผู้ต้องกักตัวอย่างมีประสิทธิภาพจึงจำเป็นที่ต้องดำเนินไปอย่างถูกต้องตามหลักสาธารณสุขและต้องมั่นใจได้ว่าทุกคนที่ต้องพำนักและปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสถานที่แห่งนี้จะปลอดภัย ไร้ความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จึงคิดค้นและพัฒนา “รถกองหนุน” หรือ รถความดันบวก (Positive Pressure) ปลอดเชื้อ 100% อีกหนึ่งนวัตกรรมเสริมความเข้มแข็งให้กลไกการดูแลประชาชนที่ต้องกักตัวอยู่ใน State Quarantine และ Local Quarantine มีประสิทธิภาพ เป็นตัวช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถดูแลได้อย่างใกล้ชิด และเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ที่ต้องมาพำนักที่นี่ชั่วคราว
ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเสริมว่า “การนำนวัตกรรมเข้ามาเสริมในกระบวนการการดูแลพี่น้องประชาชนที่ต้องเข้ามาอยู่ใน State Quarantine หรือ Local Quarantine จะยิ่งช่วยให้การบริหารจัดการการป้องกันการแพร่เชื้อเข้ามาในประเทศของเรามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และส่งผลโดยตรงให้สถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งแน่นอนว่าต้องดำเนินควบคู่ไปกับมาตรการการจัดการภายในประเทศต่าง ๆ ที่รัฐบาลรณรงค์ขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนตลอดจนพี่น้องประชาชนร่วมกันปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดซ้ำระลอกใหม่ เราเองในฐานะสถาบันการศึกษา จึงได้นำองค์ความรู้ที่มีเร่งพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่พร้อมใช้งานได้จริง อย่างรถ CU กองหนุนนี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่เราส่งเข้ามาสนับสนุนการทำงานจริงใน State Quarantine และ Local Quarantine ของหน่วยงานภาครัฐในยามนี้ที่ต้องดูแลคนไทยแล้ว”
ด้าน ผศ.ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ ประธานหลักสูตรสหสาขาวิศวกรรมชีวเวช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้พัฒนานวัตกรรม กล่าวว่า “เราพัฒนารถกองหนุนขึ้นมาก็เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถสร้างความใกล้ชิด เข้าตรวจทำหัตถการและการพูดคุยซักถามอาการของผู้กักตัวที่นี่ได้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ซึ่งรถความดันบวกของเรานี้จะมาพร้อมระบบสื่อสารผ่านไมโครโฟนแบบไร้สาย ทำให้เกิดความมั่นใจและลดความวิตกกังวลไปได้มาก”
และนี่คือเรื่องราวนวัตกรรมจุฬาฯ ที่เป็นมากกว่าสิ่งประดิษฐ์ “รถ CU กองหนุน” วันนี้มีส่วนช่วยประวิงเวลาให้สถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ไม่เกิดขึ้นเร็วจนเกินไปกว่าที่เราจะตั้งรับได้ ตัวเร่งของเรื่องนี้จึงอยู่ที่ความเข้มแข็งของ State Quarantine