จุฬาฯ สตาร์ทอัพรับมือโควิด ปั้นนวัตกรรมดูแลคนไทย
ปลายปี 2019 เมื่อโลกถูกเขย่าอย่างรุนแรงด้วยเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดกลายเป็นโรคอุบัติใหม่ “โควิด-19” ที่จวบจนทุกวันนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยารักษา ปลุกให้หลายประเทศจำเป็นต้องลุกขึ้นมาออกมาตรการตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) รับมือกับโรคร้ายนี้เพื่อดูแลประชาชนคนในชาติของตนรวมถึงประเทศไทยของเราด้วย ทั้งมาตรการปิดเมือง ล็อกดาวน์ประเทศ ปิดสนามบิน กำหนดสถานที่กักตัวที่รัฐจัดให้ (State Quarantine & Local Quarantine) กำหนดเวลาเคอร์ฟิวเปิดปิดธุรกิจห้างร้าน รวมถึงมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) หลากหลายรูปแบบควบคู่ไปกับการปรับตัวเข้มงวดและยืดหยุ่นระคนกันไปได้ผลดีมากน้อยแตกต่างกัน โดยหากเจาะลึกลงมาเฉพาะสถานการณ์ในประเทศไทยที่ทั่วโลกต่างประสานเสียงชื่นชมคนไทยจนในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา Global COVID-19 Index (GCI) ยกให้ไทยอยู่ในลำดับที่ 1 ของการฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ซึ่งสำรวจจาก 184 ประเทศทั่วโลก และปัจจัยที่ทำให้ไทยก้าวมายืนหนึ่งเหนือคนทั้งโลกได้ในยามนี้ นอกจากความสมัครสมานสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันเป็นหนึ่งของทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ตลอดจนประชาชนแล้ว คงเป็นนวัตกรรมจากกลุ่มสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่ปวารณาตัวอาสาขอนำองค์ความรู้ที่มีมาปรับใช้บูรณาการให้สอดรับกับสถานการณ์เพื่อดูแลคนไทยอย่างสุดความสามารถ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) ในฐานะผู้บ่มเพาะสตาร์ทอัพที่พร้อมยกระดับสู่นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ในช่วง 3-4 ปีไว้กว่า 180 ทีม จนมีมูลค่าการตลาดสูงถึง 1.5 หมื่นล้านบาท และสร้างกลุ่มผู้ประกอบการหน้าใหม่ไว้อีกกว่า 2,000 ราย […]