สมการ ทสม. 1 + 1 = ?
โจทย์เลขง่าย ๆ ที่สะท้อนความสำคัญของ ทสม.
วันนี้เรามีสมการเลขคณิตคิดง่าย ๆ มาชวนลับสมอง
“1 + 1 = ?”
แน่นอนว่าคำตอบที่ทุกคนเตรียมไว้อยู่ในใจคือ “2”
แต่หากเราจะชวนคิดกันต่ออีกสักนิดว่าเลข “1” ทั้งสองตัวที่เราเห็นในโจทย์นี้มีความหมายใดที่ลึกซึ้งแอบซ่อนอยู่ได้อีกบ้าง
อยากจะชวนให้พวกเรามอง “1” ตัวแรกเป็นเสมือนคนหนึ่งคนที่ต้องประกอบกิจการงานใด ๆ ระหว่างให้ หนึ่งคนทำกับสองคนทำ แบบไหนจะง่าย รวดเร็ว และใช้แรงน้อยกว่ากัน ซึ่งแน่นอนว่าคำตอบก็ยังคงเป็นให้สองคนช่วยกันทำนั่นเอง
หากเรานำสมการข้างต้นนี้มาขยายความในบริบทของงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มองกันในระดับที่ใหญ่ขึ้น ดูบ้าง โดยกำหนดให้เลข “1” ตัวแรกคือ “ภาครัฐ” และเลข “1” อีกตัวที่เหลืออยู่เป็น “ภาคประชาชน” เราต่างย่อมรู้กันดีอยู่ว่า หากต่างฝั่งต่างตั้งหน้าตั้งตาทำงานของตนไปโดยไม่สนใจอีกฝั่งหนึ่งเลย จริงอยู่ที่อาจมีผลลัพธ์ปรากฏขึ้น แต่จะเทียบไม่ได้เลยกับการทำงานแบบ “1 + 1” ที่ผลลัพธ์จะออกมาดีขึ้นเป็นสองเท่าทวีคูณ
ตัวแปรสำคัญจากสมการนี้จึงอยู่ที่เครื่องหมาย “+” ใครกันเล่าจะทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายบวกที่รวมพลังของทั้งสองฝั่งผนวกรวมเข้าไว้ด้วยกัน เพราะบ่อยครั้งที่แนวทางภาครัฐไม่สอดคล้องต้องกันกับมุมมองของภาคประชาชน จึงยากจะประสานพลังให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันได้
“ทสม.” หรือ “อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน” จึงจำเป็นต้องเข้ามาสวมบทบาทเป็นเครื่องหมายบวกนั้น หรือได้ชื่อว่าเป็น “โซ่ข้อกลาง” ที่เชื่อมร้อยภาครัฐและภาคปะชาชนต่อกันเป็นโซ่เส้นยาวที่ทั้งยาวขึ้นและแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ
หนึ่งในงานเด่นเห็นชัดเชิงประจักษ์ ฉายภาพความสำคัญของ ทสม. ได้เป็นที่ยอมรับในช่วงที่ผ่านมา คือโครงการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังถูกพูดถึงกันมานานหลายขวบปี หน่วยงานรัฐมีความพยายามหลายต่อหลายครั้งรณรงค์ป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่า แต่ก็ไม่เกิดผลสำเร็จ จนกระทั่ง ทสม. ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับภารกิจนี้ช่วงปี 2557-2558 จัดตั้งกันเป็นกลุ่มอาสาสมัครเฝ้าระวังไฟป่า รับบทเป็นตัวกลางเชื่อมร้อยพี่น้องประชาชนในชุมชนและประชาชนในพื้นที่ดอย รวมถึงชนพื้นเมืองที่มีชีวิตใกล้ชิดกับป่า หันหน้ามาเข้าร่วมกับหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นบ้าง กรมป่าไม้บ้าง หรือแม้แต่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หารือแนวทางป้องกันหมอกควันและไฟป่าอย่างมีประสิทธิภาพขึ้นเป็นครั้งแรก
ผลจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทำให้เกิดแผนงานและทิศทางการจัดการไฟป่าและลดหมอกควันแบบมีส่วนร่วมจนลดหมอกควันได้สำเร็จและฟื้นฟูคุณภาพอากาศให้ดีขึ้นได้จริง
นอกจากนี้ ยังเกิดแหล่งเรียนรู้การเฝ้าระวังไฟป่า สร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนในพื้นที่ กระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วม ปฏิบัติภารกิจช่วยเจ้าหน้าที่ดูแลไฟป่าในพื้นที่ และยังได้ร่วมขยายเครือข่ายร่วมกิจภารกิจนี้ออกไปอย่างแพร่หลาย
จากกรณีศึกษาในข้างต้นนี้ ทำให้เราทราบว่า หากขาด “โซ่ข้อกลาง” อย่าง ทสม. ข้อนี้ไป ภาครัฐและภาคประชาชนก็ยากที่จะหันหน้ามาผนึกกำลังกันแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้สำเร็จลุล่วงไปได้ และยังคงต่างคนต่างอยู่ ต่างฝ่ายต่างแก้ปัญหากันไปไม่รู้จบ
คุณเองก็สามารถเข้ามา “โซ่ข้อกลาง” ได้เช่นกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม คุณอาจจะแค่เดินสำรวจรอบชุมชนของคุณว่ามีปัญหาสิ่งแวดล้อมใดบ้าง สอบถามเพื่อนบ้านว่าพบเจอปัญหาอะไร และแจ้งไปยังภาครัฐว่าคุณพบเจอปัญหาอะไรบ้างเข้าแล้ว และชักชวนให้ทั้งภาครัฐและภาคประชาชนในพื้นที่มาร่วมมือแก้ปัญหานั้นด้วยกัน เท่านี้คุณก็เป็น ทสม. ชั้นเลิศแล้ว
โปรดอย่ามองว่าการเป็น ทสม. นั้นยากเกินไป การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็คงไม่ต่างจากสมการเลขคณิต 1 + 1 ที่เราหยิบยกมาแต่แรก
แม้ว่าจะเรามีเลข “1” ถึงสองตัว แต่หากขาดเครื่องหมายบวก ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็มิอาจรวมกันให้ผลลัพธ์เป็น “2” ได้ฉันใด ภาครัฐและภาคประชาชนที่ต่างก็มีใจรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยกัน แต่ขาดโซ่ข้อกลางอย่าง ทสม. มาเชื่อมประสาน ภารกิจพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมก็จะไม่มีวันประสบความสำเร็จได้ฉันนั้น