“แชมพูแห้ง” item นอกกระแสที่ชุมชนกักตัว (ต้อง) ร้องขอ ในวิกฤตโควิดระบาด
ท่ามกลางภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงปีที่ผ่านมา มีผู้คนมากมายต่างได้รับผลกระทบจากมาตรการที่ภาครัฐขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามเพื่อควบคุมสถานการณ์เร่งลดความเสี่ยงแพร่กระจายของเชื้อไวรัสในชุมชน จนทำให้ธุรกิจห้างร้านจำเป็นต้องหยุดให้บริการลงชั่วคราว หากแต่ความต้องการบริโภคของเรานั้นไม่เคยได้หยุดตาม สินค้าอุปโภคบริโภคอาหารการกินหยูกยายังคงจำเป็นต้องใช้อยู่ ในบรรดาผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีอยู่กลุ่มหนึ่งที่สถิติการอุปโภคไม่เคยหดตัวลงเลยนั่นคือ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนตัว จากการรายงานของ Euromonitor แสดงให้เห็นว่าอัตราการเติบโตของตลาดกลุ่มนี้ยังอยู่คงที่ประมาณร้อยละ 6 ในปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งหลายคนอาจจะนึกถึงกลุ่มเครื่องประทินผิว สบู่ ยาสระผม หรือเครื่องสำอางแต่งเติมสีสันขึ้นมาก่อนเป็นอันดับต้น ๆ แต่เชื่อหรือไม่ว่ายังมีอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งที่เราอาจไม่คุ้นชิน หรือมีน้อยคนนักที่จะรู้จักกับ “แชมพูแห้ง” (Dry Shampoo) ซึ่งนิยมใช้กันในหมู่ผู้มีเวลาน้อยเสียจนไม่เหลือเวลาให้ได้สระผม และยังมีความสำคัญมากกับกลุ่ม “ผู้ป่วยติดเตียง” (Bed Ridden Patients) ช่วยแบ่งเบาภาระงานให้กับผู้บริบาลได้ใช้ดูแลรักษาความสะอาดสรีระร่างกายและเส้นผมของกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงได้เป็นอย่างดี ซึ่งเราต้องขอขอบคุณการสำรวจความต้องการของผู้ประสบภัยในชุมชนแออัดที่ลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจของเครือข่าย Food For Fighters และข้อมูลตอบกลับผ่าน QR Code บนฝา “ข้าวแสนกล่อง” ที่ส่งออกไปเพื่อเยียวยาปัญหาปากท้องจนทำให้เราทราบความต้องการนี้ แต่ก่อนที่เราจะมาพูดถึงเรื่องการใช้งานของแชมพูแห้ง เราจะพามาทำความรู้จักกับเส้นทางการพัฒนาแชมพูแห้งที่อยู่คู่กับโลกนี้มานานกว่า 8 ทศวรรษ
“แชมพูแห้ง” เกิดขึ้นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา ช่วงปี ค.ศ.1940 โดย The Stephanie Brooke Company of Jersey City ในขณะนั้นใช้ชื่อยี่ห้อ “Minipoo” และด้วยชื่อที่มีความหมายตีความค่อนไปในทางลบ [อึก้อนจิ๋ว] จึงทำให้คนสมัยนั้นไม่อินกับการใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่นี้บนศีรษะและเส้นผมเท่าไหร่นัก ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับทำความสะอาดวิกผมกันเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน แชมพูแห้งกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งเมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนจำเป็นต้องเร่งรีบทำงานแข่งกับโลกที่หมุนเร็วโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีอากาศหนาวเย็นไม่เอื้อให้ชวนอาบน้ำได้วันละหลายเวลา หรือกลุ่มประเทศที่แห้งแล้งจัดจนไม่มีน้ำให้ใช้อุปโภคได้อย่างสุรุ่ยสุร่าย
ส่วนประกอบหลักของแชมพูแห้งคือ แป้ง ซึ่งผู้ผลิตหลายรายมักเลือกใช้แป้งข้าวโพด (Corn starch) ซึ่งมีคุณสมบัติดูดซับความมันในเส้นผมและหนังศีรษะได้เป็นอย่างดีและไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย นอกจากนี้ในแชมพูแห้งยังมีสารช่วยดูดซับความมันอื่นที่ถูกเลือกใช้ อาทิ Activated Carbon หรือ Alumina และอาจมีสารช่วยทำความสะอาดประเภทสารลดแรงตึงผิวประจุลบที่ไม่ละลายน้ำ (Hydrophobic Anionic Surfactants) สารลดแรงตึงผิวประจุบวก (Cationic Surfactants) เช่น Cetrimonium Chloride ตามแต่สูตรเฉพาะของผู้ผลิตจะพัฒนาขึ้น และมากไปกว่านั้น ผู้ผลิตอาจใส่ส่วนผสมเพื่อเพิ่มคุณค่าเฉพาะเข้าไปอีก ไม่ว่าจะเป็น Hyaluronic Acid แบบประจุบวกที่ใช้บำรุงเส้นผม หรือสารกลุ่ม Silicone ที่ทำให้ผมนุ่ม โดยหลักการทำงานของแชมพูแห้งจะใช้ของแข็งที่เป็นผงมีรูพรุนอย่างแป้งหรือคาร์บอนเข้าไปดูดซับความมันจึงทำให้ผู้ใช้รู้สึกสะอาด นอกจากนี้ Fichot J. และ Saaid A. แห่งสถาบัน Church and Dwight Technology and Innovation ประเทศฝรั่งเศส ได้ศึกษาและวิจัยการใช้แชมพูแห้งแล้วว่าสามารถลดความมันของหนังศรีษะและเส้นผมได้ถึงร้อยละ 47 และทำให้หนังศรีษะสะอาดขึ้นได้ถึงร้อยละ 40 แม้ไม่ใช้น้ำ อีกทั้งทดสอบความปลอดภัยและการระคายเคือง พบว่าเกิดการระคายเคืองน้อยมากเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น
ด้วยสรรพคุณเหล่านี้ของแชมพูแห้ง จึงตอบโจทย์ผู้ใช้งานในกลุ่มช่วงโควิด19 ระบาด โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยติดเตียงในชุมชนแออัดในภาวะทีต้องกักตัวเป็นไปด้วยความยากลำบากเมื่อทั้งตัวผู้ป่วยและผู้บริบาลเองต่างก็ต้องรักษาระยะห่างทางสังคมด้วยเช่นกัน ผู้ป่วยติดเตียงบางคนอาจมีผู้บริบาลมากกว่า 2 คน จนทำให้เกิดความกังวลใจเสี่ยงติดเชื้อกันเองของผู้บริบาลซึ่งอาจเป็นญาติพี่น้องสมาชิกในครอบครัวและรวมถึงตัวผู้ป่วยเองด้วยเช่น การใช้แชมพูแห้งจึงช่วยเยียวยาให้ผู้ป่วยรู้สึกสะอาด ลดการเกิดโรคผิวหนังได้ในยามนี้
เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว ไอเท็มต่อไปที่เราจะพลาดไม่ได้สำหรับการจัดทำถุงยังชีพสร้างสรรค์เป็นการเฉพาะให้ครัวเรือนที่มีผู้ป่วยติดเตียงจึงจำเป็นต้องมี “แชมพูแห้ง” เป็นหนึ่งในนั้นด้วย