เปิดศักราชเรียนรู้ตลอดชีวิต จุฬาฯ จับมือ The Sharpener ปั้นหลักสูตรใหม่สร้าง Global Talent หัวใจไทย
ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula Unisearch) ร่วมกับ The Sharpener School จัดงานปฐมนิเทศหลักสูตร “Media and Communication for Transnational Citizens” แบบไฮบริดให้กับผู้เรียน รุ่นที่ 1 จำนวนทั้งสิ้น 478 คน ณ หอประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ (Hall of Intania) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจากผู้บริหารสถาบันการศึกษา คณาจารย์ และภาคีเครือข่ายร่วมงานอย่างคับคั่ง อาทิ ศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร.ศักดา ปั้นเหน่งเพ็ชร์ ดร.ศรายุธ แสงจันทร์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ดร.สุดคนึง ฤทธิ์ฤาชัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยนักบริหารสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร คุณอังคณา สุขวิบูลย์ อดีต ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์องค์การ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คุณมกร พงษ์ธนพฤกษ์ อดีตเลขาธิการ สนจ. คุณปรียานุช ศุภสิทธิ์ อดีตรองเลขาธิการ สนจ. คุณพงษ์เดช เสรีเชษฐพงษ์ อดีตประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์ สวจ. ดร.ศุภิชัย ตั้งใจตรง ผู้อำนวยศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ รศ.ดร.เสวกชัย ตั้งอร่ามวงศ์ รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผศ.ดร.ศรเนตร อารีโสภณพิเชษฐ์ อดีตผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาฯ Dr. Ser Shaw Hong, Mr.David Ledesma, Professor Phaik Yeong Cheah, Founder and Current Head of Bioethics and Engagement at the Mahidol Oxford Tropical Medicine Research Unit (MORU) คุณกิตติศักดิ์ เพ็ชร์หาญ CEO The Sharpener โดยพิธีเปิดเริ่มต้นขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ด้วยการแสดงในเพลงมหาจุฬาลงกรณ์ จาก CHULA Colorguard
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรดา จงกลรัตนาภรณ์ หัวหน้าภาควิชาประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ประธานในพิธีให้เกียรติกล่าวต้อนรับและเปิดงานอย่างเป็นทางการโดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมในสังคมโลกยุคใหม่ว่า “นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของหลักสูตร Media and Communication for Transnational Citizens ที่ไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังสร้างเครือข่ายและมิตรภาพในหมู่ผู้เรียนต่างชาติด้วยกัน รวมถึงระหว่างคนต่างชาติกับคนไทย อันจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมไทยได้อย่างสนิทแนบแน่นและมีความสุข นอกจากนี้ หลักสูตรยังสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ส่งเสริมการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมในยุคโลกาภิวัตน์ เป็นสะพานเชื่อมระหว่างวัฒนธรรมที่หลากหลายในประเทศไทย”
รองศาสตราจารย์ ดร.สมิทธิ์ บุญชุติมา หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนวัตกรรมการสื่อสารและพัฒนาคุณภาพชีวิตและความยั่งยืน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวถึงวัตถุประสงค์สำคัญของการพัฒนาหลักสูตรและแนวทางการเรียนรู้ตลอดชีวิตของกลุ่ม Global Talent ว่า “เราออกแบบหลักสูตรนี้ให้เป็นหลักสูตรฝีกอบรมระยะสั้น 12 เดือน แต่ละสัปดาห์จะมีชั่วโมงการเรียนรู้ไม่น้อยกว่า 25 ชั่วโมง และมีกิจกรรมเสริมหลักสูตรในช่วงสุดสัปดาห์ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และทักษะด้านการสื่อสารของชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสื่อและการสื่อสารในประเทศไทย การสื่อสารข้ามวัฒนธรรมในบริบทไทย การสื่อสารในยุคดิจิทัลและโซเชียลมีเดีย การสื่อสารเพื่อการท่องเที่ยวและธุรกิจในประเทศไทย การสื่อสารเพื่อการเจรจาต่อรองและแก้ไขข้อขัดแย้ง และโครงการสื่อสารในบริบทไทย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์พร้อมสื่อสารแนวคิดเพื่อสร้างผลกระทบให้ขับเคลื่อนความยั่งยืนระดับโลกได้ต่อไป
คุณอธิศีล ธัญญ์ ณ ป้อมเพชร ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ของ The Sharpener School กล่าวว่า “เราเชื่อในโลกที่ความยั่งยืนกำลังถูกผสานเข้ากับทุกแง่มุมของสังคม เป้าหมายของเราจึงมุ่งเสริมสร้างทักษะและองค์ความรู้ให้กับ Global Talent ให้สามารถรับมือกับความผันผวนของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่แบ่งแยกว่าแต่ละคนมีพื้นเพมาจากที่ใด หลักสูตรนี้เราจึงได้เข้ามามีส่วนร่วมกับหน่วยงานในจุฬาฯ ออกแบบหลักสูตรที่ยืดหยุ่นสำหรับผู้เรียนต่างชาติในไทย โดยเฉพาะกิจกรรมเสริมหลักสูตรในช่วงสุดสัปดาห์ตลอดปีที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนทำความเข้าใจบริบททางสังคมและวัฒนธรรมไทย พัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาไทยขั้นพื้นฐาน และปรับตัวเข้ากับสังคมและคนไทยได้อย่างราบรื่นและลึกซึ้ง ได้แก่ กิจกรรม Thai Study for Content Creator, Local Media Workshop, Cultural Feild Trip, Professional Networking และ CSR Activity โดยมีภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์กรไม่แสวงผลกำไรให้การสนับสนุน”
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมไฮไลท์อย่าง Panel Discussion หัวข้อสำคัญ “Thai Voices and Global Fandom, The Power of Communication in Fan Clubs” ได้รับเกียรติจากคุณทยุต มงคลรัตน์ บรรณาธิการมูลนิธิไทย อ.ดร.วรรษยุต คงจันทร์ ผู้รักษาการรองคณบดี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และกลุ่มตัวแทนผู้เรียนต่างชาติในประเทศไทย ได้แก่ Mr.Ye Bhone Myint, Ms.Khaing San Thwe จากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และ Ms.Rebecca Zeng จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในงานนี้ด้วย