นิติจุฬาฯ จับมือหน่วยงานกฎหมายชั้นนำพานิสิตยุคใหม่พุ่งออกนอกกรอบการศึกษากฎหมายแบบเดิม
เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2566 ณ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดี จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนสร้างเสริมวิชาการทางนิติศาสตร์และพัฒนาทักษะวิชาชีพสำหรับนักกฎหมาย ระหว่างคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ หน่วยงานภาครัฐและสำนักกฎหมายเอกชน ได้แก่ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ, สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด, Chandler MHM, DLA PIPER, HERBERT SMITH FREEHILLS, KUDUN & PARTNERS, RAJAH & TANN ASIA, Thanathip & Partners, Tilleke & Gibbins, NISHIMURA & ASAHI และ WEERAWONG C&P ท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติร่วมเป็นสักขีพยานคับคั่ง
การลงนามในบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของความร่วมมือ เพราะคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านกฎหมายชั้นนำทั้งในระดับนานาชาติ และระดับชาติมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงกว่า 6 ปีที่ผ่านมา พิธีในวันนี้จึงเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความร่วมมือกันระหว่างสถาบันการศึกษากับหน่วยงานวิชาชีพที่มีอยู่อย่างเข้มข้น ช่วยกรุยทางให้ประเทศไทยสร้างนักกฎหมายที่ครบเครื่องสู่สังคมและยังสามารถแข่งขันได้บนเวทีโลก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า “คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้สร้างนวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนโฉมรูปแบบการเรียนการสอนนิติศาสตร์ให้ทันสมัยมาโดยตลอด เพื่อมุ่งให้เกิดการหลอมรวม (Blended and Intergrated) ระหว่างภาควิชาการ และหน่วยงานวิชาชีพ ให้นิสิตได้เรียนรู้จากทั้งจากประสบการณ์จริงนอกห้องเรียน เช่น โครงการ Lawlab ห้องปฏิบัติการทางกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา โครงการ Chula Legaltech และนำประสบการณ์จริงจากผู้นำในวิชาชีพเข้ามาสู่นิสิตในห้องเรียนในโครงการติดอาวุธทักษะการทำงาน Essential Skills for Legal Practice ภายใต้ความมุ่งหมายที่จะสร้างนักกฎหมายรุ่นใหม่ที่พร้อมทำงานและทันต่อสังคมยุคใหม่”
ทางด้าน หม่อมหลวงศุภกิตต์ จรูญโรจน์ เลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงความต้องการนักกฎหมายสมัยใหม่ในหน่วยงานภาครัฐว่า “การได้เรียนรู้โลกแห่งความจริงก่อนที่จะเข้าไปประกอบอาชีพนักกฎหมายจะช่วยให้นิสิตได้รู้จักตนเองก่อนเลยว่าเราพร้อมจะก้าวไปทิศทางใด อย่างใครที่อยากมาในสายอัยการก็จะได้เข้าใจบทบาทและหน้าที่ของอัยการมากขึ้น ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐเองก็จำเป็นต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน ต้องลงมาทำความรู้จักและเข้าใจมุมมองของคนรุ่นใหม่ว่าเขามีมุมมอง ความเข้าใจ และความคาดหวังอย่างไรต่อกระบวนการยุติธรรมไทย การสร้าง Engagement กับคนรุ่นใหม่ทำให้เราได้แนวคิดใหม่ ๆ ไม่ยึดติดอยู่แต่ในกรอบเดิมในการนำข้อกฎหมายไปใช้วินิจฉัย เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมตอบโจทย์บริบทใหม่ในสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น”
ทางด้าน คุณชวลรรค ศิวยาธร อาราเนตา Managing Partner บริษัท ที่ปรึกษากฎหมายธนาธิป แอนด์พาร์ทเนอร์ส จำกัด กล่าวถึงการเข้ามาร่วมขับเคลื่อนแนวทางการศึกษาวิชากฎหมายแบบใหม่ในครั้งนี้ ว่า “เราเข้ามาสนับสนุนคณะตั้งแต่ช่วงที่ทำ Lawlab จึงทำให้ได้เห็นศักยภาพของน้องนิสิตยุคนี้ที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อน้องเก่งขึ้นประกอบกับเมื่อเราเข้ามาทำเรื่อง Essential Skill เหมือนได้มาช่วยติดอาวุธให้น้องแข็งแรงขึ้นและพบพื้นที่ที่เขาถนัด ซึ่งทำให้น้องมีโอกาสเลือกว่าเขาชอบอะไรจริตต้องกับ Law Firm สไตล์ไหน ซึ่งในโลกการทำงานจริงบริษัทแต่ละที่จะมีความถนัดแตกแขนงแยกย่อยลึกลงไปอีกมาก ซึ่งการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่คณะดึงพี่ ๆ นิสิตเก่าเข้ามาร่วมสนับสนุนจะช่วยพาน้องนิสิตไปสัมผัสประสบการณ์จริงหลากหลายรูปแบบจนสามารถเลือกสายงานได้อย่างมั่นใจ และนี่คือความแตกต่างสำคัญของนิติจุฬาฯ วันนี้”
คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้บุกเบิกนวัตกรรมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เปิดหลักสูตรนานาชาติในระดับปริญญาตรี (LLB) ที่เน้นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง (Experiential Learning) ตลอดหลักสูตร ได้รับการตอบรับจากทั้งผู้เรียนและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเป็นอย่างดี และจากความร่วมมือใหม่ที่เกิดขึ้นนี้จะยิ่งต่อยอดเสริมสมรรถนะให้การผลิตบัณฑิตนิติศาสตร์ไทยตอบโจทย์ตรงตามความต้องการของตลาดสอดรับกับการพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน