Banner 186

ยาฝรั่ง ยาจีน ยาไทย หรือ ยาใจ อะไรดีกว่ากัน

จากการพูดคุยสนทนาผ่านช่องทาง Clubhouse ห้องกล่องรอดตาย ในหัวข้อ “ยาฝรั่ง ยาจีน ยาไทย หรือ ยาใจ อะไรดีกว่ากัน” เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสาขาที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คุณหมอหวา แพทย์หญิงเกวลี สุนทรมน หัวหน้าทีม Home Isolation สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) คุณหมอมิ้นท์ แพทย์จีนอรภา ศิลมัฐ รองคณบดีคณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ คุณพิมพ์ ณัฏฐณี สุขปรีดี นักจิตวิทยาพัฒนาการ (เพจ Mature Your Child) ประธานชมรมนิสิตเก่าจิตวิทยา จุฬาฯ ซึ่งดำเนินรายการโดย คุณแมค อธิศีล ธัญญ์ ณ ป้อมเพชร ประชาสัมพันธ์ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ และผู้ร่วมก่อตั้งโครงการกล่องรอดตาย และคุณบิว เภสัชกรจักรพงศ์ สุวรรณกนิษฐ์ หัวหน้าทีมอาสาสมัครกล่องรอดตาย ฉายมุมมองสาระการรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์หลากแผนหลายตำรับ ช่วยไขข้อข้องใจในประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ The Sharpener จึงได้รวบรวมไว้พร้อมกันแล้วในบทความนี้

crop 206 0 697 929 0 196985

มุมมองยาฝรั่ง โดย คุณหมอหวา แพทย์หญิงเกวลี สุนทรมน 

“ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) หลายท่านทราบกันดีว่าเป็นยาต้านไวรัส ซึ่งมีไว้สำหรับยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส COVID-19 จากการใช้อยู่ในปัจจุบันและรายงานจากกรมการแพทย์พบว่ามีความปลอดภัย และลดความรุนแรง การสูญเสียจาก COVID-19 ได้ค่อนข้างดี ป้องกันผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองไม่ให้เปลี่ยนไปเป็นกลุ่มสีแดง หรือกลุ่มที่ไม่มีอาการหนักเปลี่ยนไปเป็นกลุ่มที่มีอาการหนัก”

181986 1

“ข้อควรระวังการใช้ยา เช่น การกินยาผิดวิธี การกินยาไม่ครบจำนวน การกินร่วมกับยาอื่น การแบ่งยาให้กับผู้อื่นทำให้ตนเองกินยาไม่ครบจำนวน ซึ่งผลข้างเคียงของยาฟาวิพิราเวียร์ เช่น ตับอักเสบ บางท่านกินคู่กับยาฟ้าทะลายโจร ก็อาจทำให้เกิดตับอักเสบเยอะขึ้น หากจำเป็นจะต้องกินคู่กับยาตัวอื่น ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อน โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีการตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ป่วยที่กินยาวัณโรค ผู้ป่วยเบาหวาน“

(สามารถศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับยาฟาวิพิราเวียร์ได้จาก https://qrgo.page.link/oVv5d )

crop 178 222 789 986 0 197017

มุมมองยาไทย โดย เภสัชกรจักรพงศ์ สุวรรณกนิษฐ์

“ยาฟ้าทะลายโจร เป็นยาที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี บางท่านเรียกเป็นยาเย็น ช่วยแก้อาการเจ็บคอ ร้อนใน มีไข้ แต่เดิมจะมีการเด็ดใบฟ้าทะลายโร 10 ใบ มาต้มน้ำแล้วดื่ม ปัจจุบันมีการวิจัยกันมากขึ้น โดยค้นพบว่าในตัวสารสกัดของฟ้าทะลายโจร มีสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่าแอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide) เป็นสารที่ไปยับยั้งการอักเสบคล้ายกับยาแผนปัจจุบันทั่วไป ซึ่งรักษาค่อนข้างได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีอาการที่มีไข้ทั่วไป ไข้ต่ำ ๆ หรือไข้ทับระดู”

kariyat leaves

“ข้อควรระวังการใช้ยาฟ้าทะลายโจร โดยเฉพาะในคนไทยที่มีความเชื่อว่าอะไรก็ตามเป็นสมุนไพรแปลว่าปลอดภัย แต่ในความเป็นจริงแล้ว อะไรที่กินมากเกินไปก็สามารถทำให้เกิดพิษได้ ซึ่งยาแผนโบราณหรือยาไทยจะมีตัวกำหนดว่าสามารถกินได้จำนวนเท่าไร ฟ้าทะลายโจรก็เป็นยาชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญ เมื่อมีการติด COVID-19 ให้กินยาฟ้าทะลายโจรเลยครั้งละ 3 เม็ด หลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน จากนั้นเว้น 2 วัน เพื่อเป็นการพักตับไม่ให้ทำงานหนัก แต่สิ่งที่เรามักจะมองข้าม คือการกินฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาแผนปัจจุบันบางตัวที่ผู้ป่วยบางโรคกินอยู่ เช่น ผู้ป่วยที่กินยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาวาร์ฟาริน ยาแอสไพริน หรือผู้ป่วยที่กินยาความดันโลหิต ผลข้างเคียงสามารถทำให้เกิดผลการออกฤทธิ์ของยาตีกันได้”

(สามารถศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับยาฟ้าทะลายโจรได้จาก https://qrgo.page.link/MFpwd )

S 24199232

มุมมองยาจีน โดย คุณหมอมิ้นท์ แพทย์จีนอรภา ศิลมัฐ

“ยาเหลียนฮัวชิงเหวินแคปซูล (Lianhua Qingwen Capsule) เกิดจากการพัฒนาตำรับยาจีนที่มีอยู่แล้ว ใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ ที่มีภาวะของความร้อนในร่างกายหรือการอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน ซึ่งในตัวยาเหลียนฮัวชิงเหวินแคปซูลเป็นยาจีนที่ประกอบไปด้วยตัวยาประมาณ 13 ตัว ตัวยาส่วนใหญ่ประมาณ 10 ตัว เป็นยาที่มีฤทธิ์ค่อนข้างเย็น ก็อาจจะเรียกได้ว่าเย็นกว่าฟ้าทะลายโจรหลายเท่า แพทย์แผนจีนจะใช้รักษาเวลาที่มีอาการที่บ่งบอกว่ามีความร้อนอยู่ภายในร่างกาย และจะเลือกใช้ยาที่มีฤทธิ์เย็นเพื่อมาปรับให้ความเย็นความร้อนสมดุลมากขึ้น เมื่อนำมาใช้รักษาผู้ป่วย COVID-19 ในอู่ฮั่น ประเทศจีน พบว่าได้ผลค่อนข้างดีเมื่อใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบัน ทางประเทศจีนจึงมีการส่งยาไปช่วยเหลือทางประเทศฝั่งยุโรปหลายประเทศ ส่วนประเทศไทยมีบริษัท เอินเวย์ กรุ๊ป จำกัด นำเข้าและจัดจำหน่าย ได้รับอนุมัติผ่านอย. ปัจจุบันมีการเข้าใจผิดจากโฆษณาสรรพคุณของยาจากการขายของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ว่ายายาเหลียนฮัวชิงเหวินแคปซูลใช้ในการป้องกันและรักษา COVID-19 ซึ่งตรงนี้เป็นการเข้าใจผิด เพราะตัวยามีฤทธิ์ที่เย็นมาก เปรียบเทียบได้กับเวลาที่เรามีสุขภาพร่างกายที่ดี ความเย็นความร้อนสมดุลอยู่แล้ว หากกินยาที่มีฤทธิ์เย็นมาก ๆ สะสมไปเรื่อย ๆ ซึ่งปกติภูมิคุ้มกันในร่างกายคือ ภาพของความร้อนในมุมมองของแพทย์แผนจีน ถ้าตรงนี้ไม่สมดุลกันก็จะป่วยง่าย กลายเป็นว่าอาจจะเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าเดิม”

Lianhua Qingwen Capsule 02

“ข้อบ่งใช้ยาเหลียนฮัวชิงเหวินแคปซูล จริง ๆ ยานี้ไม่ได้ใช้กับผู้ป่วยที่ติด COVID-19 ทุกคน จะเลือกใช้เฉพาะกับผู้ป่วยที่มีอาการของความร้อนหรือเกิดการอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน ก็คือมีไข้ เจ็บคอ บางท่านไอ มีน้ำมูกแบบเหนียวข้น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ซึ่งปกติแพทย์แผนจีนจะตรวจด้วยการดูลิ้น โดยลิ้นจะเป็นสีแดง บ่งบอกว่าในร่างกายมีความร้อน อาจจะมีการขับถ่ายที่ผิดปกติ ท้องผูก หากมีอาการเหล่านี้ อาจจะเลือกใช้ยาเหลียนฮัวชิงเหวินแคปซูลในการรักษา แต่ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นปัญหามาก ๆ ตอนนี้ ได้แก่ ผู้ป่วยบางท่านไม่มีอาการ ไม่มีไข้ อาจจะมีน้ำมูกนิดหน่อย ไอเล็กน้อย ไม่มีเสมหะ แต่มีอาการเพลีย อาการท้องเสีย ซึ่งอาการเหล่านี้บ่งบอกว่าในร่างกายไม่มีความร้อน หมายถึงร่างกายตอนนี้มีความเย็นในทางแพทย์แผนจีน ดังนั้นจะไม่แนะนำให้ใช้ยาเหลียนฮัวชิงเหวินแคปซูล เพราะว่าหากใช้ยาจะยิ่งเป็นการทำให้ร่างกายมีความเย็นขึ้น อาการป่วยอาจจะแย่ลง”

“ยาเหลียนฮัวชิงเหวินแคปซูล ส่วนใหญ่จะใช้กับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ไม่สามารถใช้ร่วมกับยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งยังไม่มีการศึกษาการใช้ยาร่วมกัน และไม่สามารถใช้ร่วมกับยาฟ้าทะลายโจร เนื่องจากเป็นยาที่มีฤทธิ์เย็นเหมือนกัน อาจะทำให้ท้องเสีย อาการอ่อนเพลีย และแย่ลงได้ ข้อจำกัดการใช้ยาในฉลากของรัฐบาลจีน ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ ไม่แนะนำให้ใช้ ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ โรคเบาหวาน ควรใช้อยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการของความเย็นอยู่แล้ว เช่น ขี้หนาว มือเท้าเย็นกว่าคนทั่วไป ท้องเสียง่าย ผู้ที่กินของเย็นแล้วท้องเสียเป็นประจำ ไม่แนะนำให้กินยานี้เช่นกัน ส่วนผู้ที่ใช้ยาเหลียนฮัวชิงเหวินแคปซูลในการรักษา ควรงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ อาหารรสเผ็ด อาหารมัน อาหารทอด เพราะกลุ่มอาหารเหล่านี้ จะทำให้เกิดภาวะของความร้อนในร่างกายค่อนข้างสูง ถ้ากินยายาเหลียนฮัวชิงเหวินแคปซูลไปแล้ว 3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรหยุดและเปลี่ยนวิธีการรักษา”

69032061 503782027064526 2184810646128820224 n

มุมมองยาใจ โดย คุณพิมพ์ ณัฏฐณี สุขปรีดี

“เรื่องของการระบาด COVID-19 ไม่เพียงจะส่งผลต่อผู้ป่วยที่ติดเชื้อเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อผู้ที่ไม่ได้ป่วยหรือได้รับผลกระทบในทางอ้อมก็น่าเป็นห่วงด้วยเช่นกัน ก่อนอื่นจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่เป็นผู้ป่วยแล้ว และกลุ่มของคนที่ได้รับผลกระทบจากทางอ้อมอื่น ๆ ไม่ว่าจะจากความกลัว ความกังวล หรืออะไรก็ตาม โดยเริ่มที่กลุ่มเป็นผู้ป่วยแล้ว ซึ่งสภาพร่างกายมีผลกระทบโดยตรงต่อความรู้สึกหรือการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ เนื่องจากเป็นโรคระบาดใหม่ที่ไม่มีความคุ้นเคย ยังไม่เห็นปลายทางที่ชัดเจน นอกจากความกลัวแล้ว ยังมีความวิตกกังวล ความรู้สึกผิด และหลาย ๆ ความรู้สึกแทรกเข้ามา เพราะฉะนั้นกลุ่มผู้ป่วยที่กำลังรักษาจึงจะมีสภาวะทางจิตใจที่ค่อนข้างจะน่าเป็นห่วงกว่าลักษณะอื่น ๆ ผู้ป่วยบางท่านต้องอยู่คนเดียวเหมือนถูกตัดขาดทางสังคมไปอย่างหนึ่ง ซึ่งตรงนี้มีผลโดยตรงต่อจิตใจ นอกจากความรู้สึกโหยหากัน การมีสังคม การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น จะมีในเรื่องของความกลัว อันดับแรกคือกลัวตาย อันดับสองคือกลัวคนอื่นจะติด อันดับสามคือกลัวว่าในระยะยาวหากรักษาหาย ชีวิตจะเป็นอย่างไรต่อ จะมีอาการข้างเคียงอะไรไหมในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของความกังวลอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการป่วยโดยตรง เช่น การงาน การจัดการต่าง ๆ การเรียน ครอบครัว อนาคต ความรัก เป็นต้น ความรู้สึกต่อมาคือความรู้สึกผิด เช่น ทำไมฉันถึงติด ฉันดูแลตัวเองไม่ดีพอ ซึ่งล้วนมีผลต่อจิตใจค่อนข้างมาก สิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้ไม่ว่าจะในฐานะอาสาสมัครหรือเป็นผู้ที่ติดเชื้อแล้ว ก่อนอื่นจะต้องมีสติ ยอมรับว่าตนเองป่วยแล้ว ยอมรับว่าคนใกล้ชิดป่วยแล้ว รับรู้ถึงความรู้สึกตนเองว่ากำลังรู้สึกยังไงสิ่งที่เกิดขึ้น ตรงนี้จะทำให้เราสามารถจัดการกับความรู้สึกหรืออารมณ์ได้ง่ายขึ้น สำหรับผู้ที่เป็นอาสาสมัครหรือคนที่จะใกล้ชิดกับผู้ป่วยสามารถทำได้ ก็คือการที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าว่ายังมีเราอยู่ การมีสังคมหรือการมีคนที่ช่วยคุยช่วยเป็นส่วนที่สำคัญมากที่จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองยังมีความหวัง สามารถที่จะไปต่อได้”

“ในส่วนของกลุ่มผู้ที่ไม่ป่วย แต่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทางใดทางหนึ่ง ซึ่งมีผลต่อสภาพจิตใจ สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงคือวิถีชีวิต เมื่อใดก็ตามที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ย่อมจะต้องมีการปรับตัวเกิดขึ้นอยู่แล้ว และสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เราสามารถปรับตัวได้ไหม เมื่อเราปรับตัวไม่ได้ ยืดหยุ่นไม่พอ หรือมีสภาวะอื่นที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการปรับตัว ตามการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ทัน ไม่ได้มีการวางแผนหรือไม่ได้มีการยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ย่อมส่งผลต่อความรู้สึกหรือว่าสภาพจิตใจ สิ่งที่จะขึ้นคือ ความกลัว ความกังวล ความรู้สึกผิด โดยความกลัว เช่น กลัวจะป่วย กลัวจะติด ความกังวล เช่น ถ้าป่วยจะเป็นอย่างไร ถ้าติดแล้วจะเป็นอย่างไร จะต้องทำอย่างไรถึงจะหายได้เร็วหรือว่าถึงจะไม่ติดโรค เป็นต้น ส่วนความรู้สึกผิด เช่น เราป้องกันตัวเองดีหรือยัง ถ้าฉันติด ฉันจะเป็นคนที่ทำผิดหรือเปล่า หรืออีกกลุ่มที่รู้สึกมีความสุขอยู่ รู้สึกว่ายังไม่ได้เดือดร้อนอะไร แต่รู้สึกผิดที่มีความสุข ประเด็นนี้ก็มีผลต่อจิตใจเหมือนกัน การที่บางท่านอาจจะหาความสุขบางอย่างได้ในช่วงนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ผิด ตราบใดที่ความสุขของเราไม่ได้ไปทำร้ายจิตใจคนอื่น เรายังสามารถที่จะรักษาสภาพจิตใจของเราได้ ไม่ใช่ความผิดหรือว่าความเห็นแก่ตัว ดังนั้นการมีสติ รู้เท่าทันตนเอง ตระหนักรู้ตัวอยู่เสมอ จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสภาพจิตใจที่ไม่ดีได้”

การรักษา COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นยาฝรั่ง ยาจีน ยาไทย หรือยาใจ ล้วนแต่ให้ประโยชน์ถ้าเราใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ ก่อนจะเลือกใช้ยาใดเพื่อรักษา ควรศึกษาหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอรับคำแนะนำการใช้ยา นอกจากจะดูแลร่างกายแล้ว การดูแลจิตใจก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะยาใจถือได้ว่าเป็นอาวุธที่สำคัญที่จะช่วยให้ยาประเภทอื่นทำงานได้ดีด้วยเช่นกัน ขอให้สุขภาพดีจงมีอยู่แด่ท่าน แล้วพบกับเรื่องราว ๆ ดี ๆ ในสัปดาห์ต่อไปจาก Clubhouse ห้องกล่องรอดตาย https://www.clubhouse.com/club/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0

ที่มา

คุยมาพารอด Clubhouse ห้องกล่องรอดตาย หัวข้อ ยาฝรั่ง ยาจีน ยาไทย หรือ ยาใจ อะไรดีกว่ากัน

วันที่ 27 สิงหาคม 2564 เวลา 20.00 น.

Tags:
WordPress Cookie Notice by Real Cookie Banner