Banner 154 1

รู้ไว้ อุ่นใจกว่า กับข้อควรปฏิบัติหากต้องเข้าพักในโรงพยาบาลสนาม

หลังจากการระบาดรอบล่าสุดของโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน 2564 ซึ่งมีอัตราการติดเชื้อรวดเร็วกว่ารอบก่อน และยังไม่มีทีท่าว่าจะ “เอาอยู่” ดังเช่นที่ผ่านมา จนทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดสะสมทั่วประเทศมากกว่า 5 หมื่นรายแล้วนั้น จนเกรงกันว่าอาจเกินศักยภาพของสถานพยาบาลที่มีอยู่จะรับได้ โดยการระบาดรอบนี้ได้กระจายตัวครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยแต่ละพื้นที่จะถูกกำหนดว่ามีความเสี่ยงในระดับที่แตกต่างกันไป ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข โดยได้แบ่งพื้นที่เสี่ยงออกเป็นสีต่าง ๆ จำนวน 5 สี ดังนี้

1. พื้นที่สีแดงเลือดหมู หรือแดงเข้ม คือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดมากที่สุด และมีการคัดกรองเข้าออกมากที่สุดยิ่งกว่าพื้นที่สีแดง มีทั้งหมด 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, ชลบุรี, เชียงใหม่, นนทบุรี, ปทุมธานี และสมุทรปราการ

2. พื้นที่สีแดง คือ พื้นที่ควบคุมสูงสุด มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 1 พื้นที่ มีทั้งหมด 45 จังหวัด ได้แก่  กาญจนบุรี, กำแพงเพชร, ขอนแก่น, จันทบุรี, ฉะเชิงเทรา, ชัยภูมิ, เชียงราย, ตาก, ตรัง, นครปฐม, นครราชสีมา, นครศรีธรรมราช, นครสวรรค์, นราธิวาส, น่าน, ประจวบคีรีขันธ์, ปราจีนบุรี, ปัตตานี, พระนครศรีอยุธยา, พัทลุง, พิจิตร, พิษณุโลก, เพชรบุรี, เพชรบูรณ์, ภูเก็ต, มหาสารคาม, ยะลา, ร้อยเอ็ด, ระนอง, ระยอง, ราชบุรี, ลพบุรี, ลำปาง, ลำพูน, ศรีสะเกษ, สระแก้ว, สงขลา, สมุทราสาคร, สระบุรี, สุโขทัย, สุพรรณบุรี, สุราษฎร์ธานี, อ่างทอง, อุดรธานี และอุบลราชธานี

3. พื้นที่สีส้ม คือ พื้นที่ควบคุมที่อยู่ติดกับพื้นที่สีแดง หรือพบว่ามีผู้ติดเชื้อมากกว่า 10 ราย ขณะนี้มีพื้นที่สีส้มทั้งหมด 26 จังหวัด ได้แก่ กระบี่, กาฬสินธุ์, ชัยนาท, ชุพร, ตราด, นครนายก, นครพนม, หนองคาย, บึงกาฬ, บุรีรัมย์, พังงา, พะเยา, แพร่, มุกดาหาร, แม่ฮ่องสอน, ยโสธร, เลย, สกลนคร, สตูล, สมุทรสงคราม, สิงห์บุรี, สุรินทร์, หนองบัวลำภู, อุตรดิตถ์, อุทัยธานี และอำนาจเจริญ

4. พื้นที่สีเหลือง คือ พื้นที่เฝ้าระวังสูงและอยู่ติดกับพื้นที่ควบคุม ซึ่งพบผู้ติดเชื้อน้อยกว่า 10 ราย และมีแนวโน้มที่จะควบคุมสถานการณ์ได้

5. พื้นที่สีเขียว คือ พื้นที่เฝ้าระวัง แต่เป็นพื้นที่ที่ไม่มีการติดเชื้อ

ตามรูปด้านล่างนี้

ในช่วงที่เกิดการระบาดอย่างหนักโดยเฉพาะพื้นที่สีแดงเข้มและพี้นที่แดง ทำให้สถานพยาบาลไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการน้อย  เพื่อให้ผู้ป่วยดังกล่าวไดัรับการดูแลอย่างทั่วถึง ดังนั้นภาครัฐจึงได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อคัดกรองและดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเป็นเวลา 14 วัน ในวันนี้ The Sharpener จะขอพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับโรงพยาบาลสนามพร้อมสถานที่ตั้ง รวมถึงข้อควรปฏิบัติในกรณีที่อาจจะต้องมาใช้บริการหรือสำหรับแนะนำผู้อื่น

โรงพยาบาลสนาม คือสถานที่ที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการน้อย ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์และชุมชน โดยตัวโรงพยาบาลสนามนั้นต้องเป็นที่โล่ง ห่างไกลชุมชน ภายใต้มาตรฐานทางการแพทย์ว่า ระยะ 10-20 เมตรตามข้อกำหนด ยกตัวอย่างเช่น โรงยิมเนเซียม หอประชุม พื้นที่โล่งในโรงพยาบาล อาคารหอผู้ป่วยที่เพิ่งสร้างเสร็จ และสถานกักกันของรัฐทางเลือกที่ถูกเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลสนาม (Hospitel) โดยรูปแบบของโรงพยาบาลสนาม ได้รับการออกแบบกลาง ๆ ไว้เพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้ประกอบด้วย 3 โซน ดังนี้

โซนที่ 1 สีเหลืองสำหรับผู้ป่วย

โซนที่ 2 สีเขียวสำหรับเจ้าหน้าที่

โซนที่ 3 สีส้มคือพื้นที่ห้องน้ำ และจุดจัดการขยะติดเชื้อ มีระบบท่อบำบัดที่แยกกับท่อน้ำเสียของสถานที่นั้น ๆ

โดยทั่วไปแล้วโรงพยาบาลสนามทุกแห่ง จะจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่เข้าพัก ได้แก่ ชุดเครื่องนอน น้ำดื่ม ของใช้จำเป็น รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในด้านอื่น ๆ อาทิ อาหาร 3 มื้อ สัญญาณ Wifi รวมถึงติดตั้งกล้องวงจรปิด และจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตลอดเวลา

สำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือมีแนวโน้มว่าจะติดเชื้อ ให้รีบตรวจคัดกรองโควิด-19 ตามสถานพยาบาลที่มีห้องปฏิบัติการตรวจโควิด-19 โดยสามารถตรวจได้จากเว็บไซต์ service.dmsc.moph.go.th/labscovid19 แล้วเลือกสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หากทราบผลว่าติดเชื้อโควิด-19 ผู้ป่วยทุกคนต้องติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อทำเรื่องเข้าพักที่โรงพยาบาลสนาม โดยจะมีเจ้าหน้าที่ประสานงานกับโรงพยาบาลสนามให้อีกต่อหนี่งโดยผู้ป่วยสามารถติดต่อตามเบอร์โทรศัพท์ดังนี้

โรงพยาบาลสนาม R1 1 1
  1. สายด่วน 1330 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 
  2. สายด่วน 1442 กรมควบคุมโรค
  3. สายด่วน 1668 กรมการแพทย์
  4. สายด่วน 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
  5. สายด่วน 1646 ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กทม. (ศูนย์เอราวัณ)
  6. สายด่วน 1323 กรมสุขภาพจิต

หลังจากติดต่อเจ้าหน้าที่แล้ว ผู้ติดเชื้อโควิดต้องเตรียมเอกสารสำคัญ ได้แก่ บัตรประชาชน, ผลตรวจ Covid และเบอร์โทรศัพท์ของตน แจ้งกับทางหน่วยงานที่รับเรื่องเพื่อเข้าพัก ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่จะรับผู้ติดเชื้อส่งไปยังโรงพยาบาลสนามที่จัดเตรียมไว้ ซึ่งผู้ป่วยไม่สามารถเลือกโรงพยาบาลสนามได้เอง ในขณะรอเตียงเจ้าหน้าที่จะโทรแจ้งความคืบหน้าและติดตามอาการทุก ๆ 6 ชั่วโมง หากเกิดกรณีฉุกเฉิน เช่น  ไข้สูง ไอมาก แน่นหน้าอก หอบหรือหายใจไม่สะดวก เจ้าหน้าที่จะส่งรถไปรับมารักษาในโรงพยาบาลหลักทันที

นอกจากนี้เบอร์โทรศัพท์ที่ให้ไว้แล้วหากท่านไม่สะดวกยังสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือผ่านช่องทางอื่นได้อีก 2 ช่องทาง ได้แก่

ช่องทางติดต่อทำเรื่องเข้าพักโรงพยาบาลสน 2
  1. Line Official ชื่อ “สบายดีบอต”

ผู้ป่วยสามารถลงทะเบียนขอเตียงผ่าน โดยพิมพ์ว่า @sabaideebot แล้วกด “เพิ่มเพื่อน” จากนั้นจึงใส่ข้อมูลสำคัญ ได้แก่ ชื่อ, ผลตรวจแล็บ, เลขบัตรประจำตัวประชาชน, เบอร์โทรศัพท์ และที่อยู่ จากนั้นรอการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ไลน์สบายดีบอตยังมีเมนูอื่น ๆ ให้ใช้งานด้วย เช่น บันทึกสุขภาพ, บันทึกการสัมผัสทางสังคม เป็นต้น

  1. กรอกข้อมูลใน Google form ของโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์

ผู้ป่วยสามารถกรอกอีเมลของตัวเอง และผลการตรวจทางการแพทย์ผ่านทางลิงก์นี้ >>  https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSdVaS1pVVbAWJlY5RmxfvgIc89k-hCdkGqDaJ_2Pdf0-UaFxQ/viewform จากนั้นโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์จะติดต่อกลับเพื่อขอส่งเวรและประสานเวลาการส่งตัวผู้ป่วย เพื่อส่งตัวผู้ป่วยมายังโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์

เมื่อถูกส่งตัวเข้าพักตามโรงพยาบาลสนามที่เจ้าหน้าที่จัดหาให้เรียบร้อย ผู้ป่วยต้องดูแลตัวเองตามข้อควรปฏิบัติทั้ง 8 ข้อ ดังนี้

โรงพยาบาลสนาม R1 2 1
  1. เตรียมอุปกรณ์ของใช้ส่วนตัวมาให้พร้อม เช่น เสื้อผ้า อุปกรณ์รับประทานอาหาร เครื่องมือสื่อสาร แล็ปท็อป หรือของจำเป็นอื่น ๆ และห้ามนำสิ่งต้องห้ามหรือของผิดกฎหมายเข้าพื้นที่ เช่น อุปกรณ์เล่นการพนัน สารเสพติดและอาวุธ เป็นต้น
  1. สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาและอยู่ในโรงพยาบาลสนามเท่านั้น
  1. พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาด งดดื่มน้ำเย็นจัดและรับประทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ
  1. ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์เป็นประจำ หลังสัมผัสจุดเสี่ยงที่มีผู้อื่นใช้ร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตูและราวบันได
  1. หมั่นทำความสะอาดเสื้อผ้า ชุดเครื่องนอน ด้วยน้ำและสบู่ หรือผงซักฟอก เป็นประจำ
  1. ทิ้งขยะลงถังขยะที่จัดวางไว้และปิดฝาทุกครั้ง
  1. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่น หากจำเป็นต้องเข้าใกล้ ต้องสวมหน้ากากอนามัยและอยู่ห่างอย่างน้อย 1 เมตร หากไอจามไม่ควรเข้าใกล้ผู้อื่น หรืออยู่ห่างอย่างน้อย 2 เมตร
  2. หากมีอาการป่วยเกิดขึ้นใหม่หรืออาการเดิมมากขึ้น เช่น ไข้สูง ไอมาก แน่นหน้าอก หอบหรือหายใจไม่สะดวก ให้รีบติดต่อเจ้าหน้าที่พยาบาลทันที

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจจะยังคงดำเนินต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง ทีมงาน The Sharpener จึงได้รวบรวมความคืบหน้าของการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามจนถึงปัจจุบันว่ามีสถานที่ใดที่เปิดทำการแล้ว รวมถึงที่กำลังจะสร้างเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจและสบายใจมากยิ่งขึ้นว่าพวกเขาจะได้รับการดูแลจากหน่วยงานของรัฐอย่างแน่นอน โดยจะเน้นเฉพาะโรงพยาบาลสนามในพื้นที่สีแดงเข้มเป็นหลัก ดังนี้

  1. โรงพยาบาลสนามในพื้นที่สีแดงเข้มหรือแดงเลือดหมู มีทั้งหมด 6 จังหวัด ได้แก่
โรงพยาบาลสนามในพื้นที่สีแดงเข้ม 2 1

1.1 กรุงเทพมหานคร 

  • โรงพยาบาลสนาม จุฬาฯ ณ อาคารจันทนยิ่งยง ถ.พระราม 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน จำนวน 100 เตียง 
  • โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน จำนวน 1,000 เตียง
  • โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เขตบางแค จำนวน 200 เตียง
  • โรงพยาบาลเอราวัณ 1 (ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ บางบอน) จำนวน 100 เตียง
  • โรงพยาบาลเอราวัณ 2 (บางกอกอารีนา) เขตหนองจอก จำนวน 400 เตียง
  • สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ มีอาคารโรงยิมฯ จำนวน 4 อาคาร มีเตียงรองรับจำนวน 400 เตียง

นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังเปิดศูนย์แรกรับผู้ป่วยโควิด-19 ณ อาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ เขตปทุมวัน มีเตียงรองรับ 300 เตียง อีกด้วย

โรงพยาบาลสนามในพื้นที่สีแดงเข้ม 1 1

1.2 จังหวัดชลบุรี 

  • โรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยการกีฬาฯ วิทยาเขตชลบุรี จำนวน 235 เตียง บริเวณชั้น 2 ของอาคารจะใช้เป็นพื้นที่กักตัวผู้ติดเชื้อเพศหญิง 100 เตียง ส่วนชั้น 3 ของอาคารจะใช้เป็นพื้นที่กักตัวผู้ติดเชื้อเพศชาย จำนวน 130 เตียง
  • โรงพยาบาลสนามศูนย์การฝึกหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (ศฝ.สอ.รฝ.) (เกล็ดแก้ว) อำเภอสัตหีบ จำนวน 320 เตียง
  • โรงพยาบาลสนามค่ายพระมหาเจษฎาราชเจ้า หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อ.สัตหีบ จำนวน 174 เตียง
  • โรงพยาบาลสนาม สนามฝึกกองทัพเรือ บ้านจันทเขลม หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน จำนวน 232 เตียง
โรงพยาบาลสนามในพื้นที่สีแดงเข้ม 3

1.3 จังหวัดเชียงใหม่ 

  • โรงพยาบาลสนามศูนย์ประชุมและจัดแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ จำนวน 1,500 เตียง
  • โรงพยาบาลสนาม หอหญิง 5 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 350 เตียง
  • โรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จำนวน 400 เตียง

            นอกจากนี้นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ยังได้เตรียมแผนที่จะเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม ได้แก่ โรงพยาบาลฝาง เพื่อรองรับผู้ป่วยในพื้นที่อำเภอทางตอนเหนือของจังหวัด ส่วนพื้นที่อำเภอทางตอนใต้อยู่ระหว่างหาสถานที่ และกลุ่มผู้ป่วยอาการหนักหรือกลุ่มสีแดง รักษาในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และโรงพยาบาลนครพิงค์

โรงพยาบาลสนามในพื้นที่สีแดงเข้ม 4

1.4 จังหวัดนนทบุรี

  • โรงพยาบาลสนามโรงเรียนนนทบุรีวิทยาลัย อำเภอปากเกร็ด  เฟสแรกรองรับผู้ป่วยได้ 700 เตียง เฟส 2 จำนวน 350 เตียง เฟส 3 จำนวน 350 รวม 1,400 เตียง

โดยการรับเข้าในโรงพยาบาลสนามนั้นในเบื้องต้นผู้ป่วยจะต้องติดต่อผ่านศูนย์ประสานงานของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ประเมินอาการและคัดแยกผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการรักษาในสถานที่ที่เหมาะสมตามระดับความรุนแรงของอาการ เมื่อดำเนินการรับผู้ป่วยเข้าระบบแล้วจะมีรถโรงพยาบาลไปรับถึงที่พักโดยผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลด้วยตัวเอง

โรงพยาบาลสนามในพื้นที่สีแดงเข้ม 5

1.5 จังหวัดปทุมธานี

  • โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ อำเภอคลองหลวง ปทุมธานี จำนวน 494 เตียง 
  • โรงพยาบาลสนามอาคารสำนักงานฝึกอบรม สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 60 พรรษา กรมพลศึกษา เขตธัญบุรี จำนวน 140 เตียง
  • โรงพยาบาลสนามยิมเนเซียม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เขตคลองหลวง จำนวน 50 เตียง สำรอง 120 เตียง
  • สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เขตคลองหลวง จำนวน 220 เตียง
  • สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เทคโนธานี จำนวน 20 เตียง
  • โรงพยาบาลสนามราชวิถี 2 (คลองหลวง) จำนวน 90 เตียง
โรงพยาบาลสนามในพื้นที่สีแดงเข้ม 6

1.6 จังหวัดสมุทรปราการ

  • โรงพยาบาลสนาม อาคารหอประชุมเฉลิมพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี จำนวน 100 เตียง และหอพักนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี สมุทรปราการ เป็นหอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด-19 ขนาด 800 เตียง
  • โรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันนทา ศูนย์สมุทรสงคราม จำนวน 50 เตียง

นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นโรงพยาบาลสนามของกระทรวงกลาโหม ซึ่งได้รับการการสนับสนุนจากเหล่าทัพ เพื่อรองรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ได้แก่

โรงพยาบาลสนาม สนับสนุน

1. ปตอ.1 กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (แจ้งวัฒนะ) จังหวัดกรุงเทพฯ จำนวน 200 เตียง

2. สนามมวยค่ายบุรฉัตร กองพลทหารช่าง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี จำนวน 100 เตียง

3. สนามกีฬากลาง กรมการทหารช่าง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี จำนวน 400 เตียง

4. โรงพลศึกษา ศูนย์พัฒนาการกีฬา กรมการทหารช่าง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี จำนวน 120 เตียง

5. โรงรถ กองพันทหารช่าง กรมการทหารช่าง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี จำนวน 120 เตียง

6. ศูนย์ฝึกบรรเทาสาธารณภัย หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 150 เตียง

7. รร.การบิน อาคารแผนกฝึก (ทอ.) อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม จำนวน 120 เตียง

The Sharpener หวังว่าข้อมูลเบื้องต้นเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนที่จะมีส่วนในการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์สู่สังคมเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดครั้งนี้และยังหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราทุกคนจะสามารถผ่านสถานการณ์อันยากลำบากร่วมกันครั้งนี้ไปได้ในเร็ววัน 

ที่มา : https://www.hfocus.org/content/2021/01/20871

https://www.facebook.com/informationcovid19/posts/315440033407661

https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/file/introduction/introduction130164.pdf

https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/933672

https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/04/157290/#

https://www.hospital.tu.ac.th/tufieldhos/step.php

https://service.dmsc.moph.go.th/labscovid19/

https://hdmall.co.th/c/red-zone-covid-thailand

https://www.sanook.com/news/8324706/

Tags:
WordPress Cookie Notice by Real Cookie Banner