แหวกม่าน “วัคซีนโควิด” กับภารกิจเพื่อชาติของสองพ่อลูก “พูลเจริญ” นายแพทย์วิพุธ – รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ
หากเอ่ยถึงแวดวงสาธารณสุข หลายคนคงคุ้นเคยชื่อ และความสามารถของ ‘นายแพทย์วิพุธ พูลเจริญ’ อดีตผู้อำนวยการกองโรคเอดส์และกองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิวิจัยและพัฒนานโยบาย
เวลาหมุนผ่านมาถึงปัจจุบันที่โลกเผชิญหน้ากับโควิด-19 นามสกุลพูลเจริญ ได้รับการพูดถึงอีกครั้ง แต่หนนี้คือ ‘รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ’ หรือ ‘อาจารย์แป้ง’ ลูกสาวของคุณหมอวิพุธ ที่ถอดดีเอ็นเอความเก่งมาจากพ่อ นอกจากเป็นอาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ แล้ว เธอคือผู้ร่วมก่อตั้ง ‘ใบยา ไฟโตฟาร์ม’ บริษัทสตาร์ทอัพเพื่อวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสารชีววัตถุด้วยพืช อันเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘โครงการวัคซีนเพื่อคนไทย’ ที่ชวนคนไทยร่วมระดมเงินบริจาคพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งวันนี้อยู่ในขั้นเตรียมพร้อมสำหรับทดสอบในมนุษย์
‘The Sharpener’ นัดสัมภาษณ์พิเศษคุณหมอวิพุธ และอาจารย์แป้ง ถึงการทำงานต่อสู้ไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มข้น
จากใบยา ถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19
อาจารย์แป้งเล่าถึงจุดเริ่มต้นบนเส้นทางงานวิจัย “เราเริ่มศึกษาเรื่องโปรตีนจากพืช ตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาเอก สาขา Plant Biology ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา (Arizona State University) ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ 15 ปีก่อน ตอนนั้นได้ร่วมทีมวิจัยวัคซีนอีโบลา หลังจากเรียนจบก็ไปทำงานเกี่ยวกับวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งทั้งหมดใช้แพลตฟอร์มเดียวกันคือ โปรตีนจากพืช และเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน เราและ ‘อาจารย์บิ๊บ – ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ’ ได้ร่วมกันก่อตั้ง ‘ใบยา ไฟโตฟาร์ม’ สตาร์ทอัพที่วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสารชีววัตถุด้วยพืช และเมื่อต้นปีที่แล้วที่มีคนไทยเริ่มติดเชื้อโควิด-19 เราจึงเริ่มผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในห้องแล็บทันที”
“แต่ก้าวแรกของ ใบยา ไฟโตฟาร์ม ไม่ง่ายเลยค่ะ เนื่องจากยาชีววัตถุเป็นเทคโนโลยีใหม่ เวลานำเสนอให้หลายที่พิจารณาเงินทุน จึงไม่ได้รับความสนใจมากนัก เรากับ อ.บิ๊บ จึงตัดสินใจใช้เงินส่วนตัวลงขันกันหลายล้านบาทเพื่อให้ได้ลุยงานต่อ ตอนแรกยอมรับว่าคิดหนักพอสมควร เนื่องจากเราเติบโตในครอบครัวข้าราชการ ไม่คุ้นเคยกับโลกธุรกิจ และคิดมาตลอดว่า การไม่มีหนี้คือลาภอันประเสริฐ” (อาจารย์แป้งหัวเราะขำตัวเอง)
“อีกเหตุผลสำคัญเลยคือ ที่ผ่านมา เราได้ทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา กลับมาเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ ก็ขอทุนทำวิจัย ทำเสร็จจะตีพิมพ์ก็ใช้เงินอีก ประเทศไทยให้เงินเราทำงานเยอะมาก ที่ผ่านมาพยายามนำวิจัยไปเสนอหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ได้ทำต่อ แต่คำตอบที่ได้คือ ทำไม่ได้หรอก ได้แค่ตีพิมพ์… เราจึงถามตัวเองมาตลอดว่า แล้วประเทศไทยจะเสียเงินให้เราทำวิจัยที่ได้แค่ตีพิมพ์ทำไม ยังเคยคิดว่า ถ้ายังเป็นแบบนี้ก็ควรเลิกเผาเงินรัฐบาลใช้สักที แต่พอเกิดโควิด-19 เราเริ่มทำโครงการวัคซีนป้องกันโควิด แน่นอนว่า ในวันนี้ยังไม่ใช่เรื่องความสำเร็จ เพราะเพิ่งเริ่มต้น แต่เราเริ่มเห็นลู่ทางว่า ความสำเร็จเกิดขึ้นจริงได้ พวกเรา… ทั้งทีมนักวิจัย และนิสิตรุ่นใหม่กว่า 30 คนของใบยาทุ่มเทอย่างเต็มที่จริงๆ”
ก้าว ‘ใกล้ขึ้น’ ด้วยเพราะ ‘คนไทย’
ปัจจุบัน วัคซีนป้องกันโควิดของ ใบยา ไฟโตฟาร์ม มีผลการทดลองในหนูและลิง ที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง ขั้นตอนที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้คือ การปรับปรุงสถานที่ให้พร้อมผลิตวัคซีนเพื่อทดสอบในมนุษย์ รวมถึงทดสอบในกลุ่มอาสาสมัครตามขั้นตอนที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของ ‘โครงการวัคซีนเพื่อคนไทย’ โดย ‘มูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์’ เพื่อรับบริจาคทุนวิจัยและพัฒนา 500 บาท จากคนไทย 1 ล้านคน ซึ่งยอดเงินสนับสนุนในวันนี้… ยังอยู่ห่างไกลจากเป้าหมายอีกมาก
“เราอยู่ในช่วงปรับปรุงสถานที่เพื่อเตรียมวัคซีนสำหรับทดสอบในมนุษย์ค่ะ ตามแผนจะเริ่มทดสอบกับอาสาสมัครในเดือนพฤษภาคม 2564 ส่วนสาเหตุที่ต้องปรับปรุงสถานที่ เนื่องจากเวลาทดสอบกับหนู เราปลูกต้นยาสูบเพื่อทำวัควีนแค่ 100 ต้น แต่พอทดสอบต่อกับลิง ซึ่งมีขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้น ก็ต้องใช้ปริมาณต้นพืชเยอะขึ้น นี่ยังไม่ถึงมนุษย์เลยนะคะ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมต้องใช้เงินทุน และห้องปฏิบัติการที่เพียบพร้อมเหมาะสมขึ้น”
“และถ้าถามว่า เงินจำนวน 500 ล้านบาทพอสำหรับโครงการนี้ไหม จริงๆ ไม่พอค่ะ แต่เราอยากให้คนไทยมีส่วนร่วม เป็นทีมไทยแลนด์ที่ช่วยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จากใบพืช ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เราผลิตได้เองในประเทศไทย โดยทีมงานคนไทย 100% ขณะเดียวกัน เราก็เปิดรับเงินสนับสนุนจากช่องทางอื่นด้วย ทั้งจากรัฐบาลจัดสรรงบประมาณสนับสนุนผ่านสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เงินบริจาคจากสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ รวมถึงภาคเอกชน แต่ต้องเรียนตามตรงว่า ถึงวันนี้ยังขาดเงินอีกเป็นจำนวนมาก จึงขออนุญาตเชิญชวนทุกคนร่วมกันสนับสนุนโครงการ โดยสแกนที่ QR CODE ที่อยู่ในบทสัมภาษณ์นี้ เพื่อบริจาคและนำสลิปเข้ามาลงทะเบียนรับสิทธิสมนาคุณได้ที่ www.CUEnterprise.co.th ค่ะ”
คุณหมอวิพุธเล่าเสริม “การทำแคมเปญในลักษณะ Reward Crowd Funding ในต่างประเทศมีมานานแล้ว สมัยที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ ตั้งกองทุนต่อสู้โรคโปลิโอ ซึ่งประสบความสำเร็จมาก ระดมทุนจากคนอเมริกันทั่วประเทศคนละ 1 Dime” (เท่ากับ 10 เซนต์ ประมาณ 3 บาท)
“หรือสมัยที่ นิโคลา เทสลา (Nikola Tesla) ค้นพบวิธีผลิตไฟฟ้ากระแสสลับในห้องแล็บ พอจะขยายผลไปทดลองกระแสไฟฟ้าในเมืองชิคาโก ก็ต้องอาศัยเงินจากนักลงทุน เนื่องจากการทดลองในห้องแล็บกับโรงไฟฟ้าจริงต้องใช้ต้นทุน และทรัพยากรแตกต่างกันมาก”
ปัตตานีโมเดล… “อีกทางออก” ของโควิด-19
ระหว่างที่อาจารย์แป้งพัฒนาวัคซีนโควิด ซึ่งมีขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาพอสมควร คุณหมอวิพุธแนะนำว่า เมื่อผลิตโปรตีนจากพืชได้แล้ว น่าจะนำมาพัฒนาชุดตรวจคัดกรองโควิดควบคู่ไปด้วย
“หลายคนเชื่อว่า วัคซีนจะเป็นคำตอบสุดท้าย แต่ที่ผ่านมามนุษย์ทำสำเร็จอยู่เรื่องเดียวคือ วัคซีนไข้ทรพิษ หลังจากนั้นไม่เคยมีวัคซีนอะไรที่กำจัดเชื้อโรคออกไปได้หมด สมัยที่ผมทำงานเรื่องเอดส์ ปัญหาที่สังคมพูดถึงคือ เราจะอยู่ร่วมกับโรคเอดส์ได้อย่างไร ไม่ใช่กำจัดให้หมดไป ในช่วง 30 ปี ที่ผ่านมา มีการลงทุนวิจัยเรื่องวัคซีนโรคเอดส์เยอะนะครับ ถามว่าวันนี้ได้ยารักษาให้หายไหม…คำตอบคือไม่ได้ แต่เราอยู่กับผู้ติดเชื้อได้ เพราะฉะนั้นการทำชุดตรวจโควิดจึงมีความสำคัญในการสกรีนหาผู้ติดเชื้อ และช่วยควบคุมการแพร่ระบาด”
คุณหมอวิพุธเล่าถึงการทำงานกับลูกสาว และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ ‘ปัตตานีโมเดล’ ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 จังหวัดปัตตานีมีการแพร่ระบาด เนื่องจากมีคนไทยเดินทางกลับมาจากการทำงานที่ประเทศมาเลเซีย สถานการณ์ในพื้นที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทางการปัตตานีจึงติดต่อมาที่จุฬาฯ เพื่อขอใช้ชุดตรวจโควิด
“พอผมทราบเรื่องจึงคิดว่า น่าจะติดตามผู้ติดเชื้อแบบระยะยาวด้วย โดยแบ่งชุดตรวจเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรก ใช้ในพื้นที่กักกันโรค กลุ่มสอง ใช้ในอำเภอทุ่งยางแดง และในเดือนมีนาคม 2563 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,000 เคส เราพบผู้ติดเชื้อประมาณ 24 คน พอเดือนพฤษภาคมตรวจซ้ำอีกที มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 2 เปอร์เซ็นต์ มีทั้งผู้สูงอายุ และเด็กนักเรียนที่มีภูมิแล้ว แสดงว่ามีการติดเชื้อ แต่ไม่ได้แสดงอาการ เราจึงอยากทำงานต่อว่า มีการแพร่ระบาดจากคนกลุ่มนี้แค่ไหน ทำให้คนมีภูมิคุ้มกันแบบเดียวกันหรือเปล่า ผมจึงเขียนเอกสารขอทุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เพื่อศึกษาเปรียบเทียบระหว่างอำเภอทุ่งยางแดง กับอำเภอยะหริ่ง เพื่อดูว่าคนบ้านเดียวกัน คนที่อยู่รอบบ้านเขา และไกลออกไป ทั้งสามกลุ่มนี้มีภูมิคุ้มกันในเซลล์ต่างกันอย่างไร”
อาจารย์แป้งยิ้มแล้วเล่าถึงความทุ่มเทการทำงานของคุณพ่อ “ความที่เราเป็นนักวิทยาศาสตร์ จึงคิดแค่ว่า ต้องทำชุดตรวจให้ดีที่สุด เพื่อสกรีนหาผู้ติดเชื้อ แต่คุณพ่อเคยเป็นทั้งผู้อำนวยการกองโรคเอดส์ และผู้อำนวยการกองระบาด ท่านจึงออกไอเดียว่า ควรใช้ชุดตรวจเป็นเครื่องมือติดตามการแพร่ระบาดในชุมชนด้วย”
“ปัตตานีโมเดลจึงเป็นตัวอย่างการศึกษาภูมิคุ้มกันของคนไทย ซึ่งทำให้พบว่ามีการระบาดในชุมชน แต่ไม่รุนแรง คุณพ่อบอกว่า ถ้าขยายผลการศึกษาในประเทศว่า คนไทยที่ติดเชื้อมากที่สุดคือกลุ่มไหน เราจะได้รู้ว่าใครควรได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรก ช่วงนี้คุณพ่อจึงเดินทางไปปัตตานีเดือนละครั้ง ทั้งที่เกษียณอายุราชการแล้วนะคะ แต่ท่านตั้งใจ และสนุกกับการทำงานมาก คุณพ่อมีมุมมองว่า งานวิจัยของต่างชาติไม่สามารถใช้กับคนไทยได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะภูมิคุ้มกันของคนไทยต่อโควิด-19 อาจไม่เหมือนกับคนยุโรป หรืออเมริกันที่ได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการป่วยที่รุนแรง”
“นอกจากนี้ผลวิจัยจะช่วยตอบคำถามว่า ประเทศไทยต้องการวัคซีนให้ประชาชนทุกคนไหม เพราะถ้ามีข้อมูลว่า คนที่มีภูมิคุ้มกันแล้วไม่ต้องฉีดวัคซีน แสดงว่า ไม่จำเป็นต้องมีวัคซีน 140 โดส เพื่อคนไทย 70 ล้านคน เท่ากับช่วยประเทศประหยัดงบประมาณอีกด้วย”
วัคซีนโดยคนไทย เพื่อคนไทย
กลับมาที่วัคซีนป้องกันโควิด-19 อาจารย์แป้งเล่าถึงความตั้งใจของการทำงานในครั้งนี้ ซึ่งในมุมหนึ่งก็เต็มไปด้วยแรงกดดัน และความคาดหวังของคนไทยที่เฝ้ารอวัคซีนจากบริษัทต่างๆ ทั่วโลก
“มีหลายคนพูดว่า วัคซีนของใบยาถึงไหนแล้ว ระวังจะล้มเหลว หรือบางคนนำวิธีการทำงานของเราไปเปรียบเทียบกับบริษัทผลิตวัคซีนระดับโลก จริงๆ เราไม่ได้กดดันกับคำพูดนี้ และจะให้แข่งกับคนอื่นก็คงไม่ใช่ เนื่องจากต้นทุนและองค์ประกอบแวดล้อมแตกต่างกันมาก สำหรับเราการได้ทดลองวัคซีนจากหนู ไปลิง และกำลังจะได้ทดสอบกับมนุษย์ คือหนึ่งในการเรียนรู้ และความสำเร็จเบื้องต้น เป็น Quick win แล้ว เนื่องจากในหลายประเทศที่มีงบทำวิจัยมากกว่าเรายังทำไม่ได้เลยด้วยซ้ำ ทีมงานของเรากำลังเร่งทำงานอย่างเร็วที่สุดค่ะ ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผน และได้เงินสนับสนุนเพียงพอ วัคซีนจะพร้อมใช้งานได้อย่างเร็วที่สุดปลายปีนี้ และสามารถเพิ่มกำลังผลิตได้สูงถึง 60 ล้านโดสต่อปี รองรับความต้องการใช้วัคซีนได้ถึง 30 ล้านคน”
“การชวนคนไทยร่วมระดมเงินบริจาคเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเพื่อสร้างแพลตฟอร์มผลิตวัคซีนตั้งแต่ต้นน้ำ อย่างเมื่อไม่นานมานี้โลกได้พบกับโควิด-19 กลายพันธุ์ เป็นเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์แอฟริกากับอังกฤษ ทำให้วัคซีนที่มีอยู่นี้อาจใช้ไม่ได้ผล ทันทีที่เราทราบก็คุยกันกับอาจารย์บิ๊บว่า ‘ผลิตวัคซีนตัวนี้กัน’ ตอนนี้ทีมวิจัยใบยาก็สามารถพัฒนาวัคซีนสำหรับสายพันธุ์แอฟริกากับอังกฤษได้แล้ว และกำลังเข้าสู่ขั้นตอนการทดสอบในสัตว์ทดลอง ขณะนี้เราจึงเริ่มนับหนึ่งในห้องแล็บแล้ว เราสามารถผลิตวัคซีนสำหรับไวรัสที่เกิดขึ้นและกลายพันธุ์ได้ในห้องแล็บ ถ้ามี Facility ที่พร้อมจะได้ลุยในขั้นตอนต่อไปได้ หรือถ้าในอนาคตเชื้อไวรัสเกิดกลายพันธุ์เฉพาะในประเทศไทย เราก็จะได้พัฒนาวัคซีนได้ทันที ไม่ใช่นั่งรอแต่ของคนอื่นอยู่อย่างเดียวเหมือนที่เป็นมาในช่วง 1-2 ปีนี้”
“ถ้าโครงการเดินทางถึงเป้าหมาย ความสำเร็จจะไม่ใช่แค่ของใครคนใดคนหนึ่ง เพราะทุกก้าวเดินเกิดขึ้นได้จากเงินบริจาคของคนไทย นี่จึงเป็นการเดินทางไปข้างหน้าด้วยกันของคนไทยทั้งประเทศ”
ร่วมเป็นทีมไทยแลนด์ บริจาคเงินได้ที่ www.CUEnterprise.co.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0-2576-5500 / เฟซบุ๊ก CUEnterpriseOfficial / ไลน์ @CUEnterprise