จุฬาฯ จับมือ ก.สาธารณสุข แก้ปัญหาสิงห์อมควัน จัดเขตสูบหรี่คุ้มครองนิสิต-บุคลากร นำร่องปรับพฤติกรรมคนไทย
ในทุก ๆ 1 นาที ทั่วโลกมีผู้ที่ต้องปิดฉากชีวิตลงจากภัยร้ายของบุหรี่ซึ่งเป็นสาเหตุที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกนับเป็นอันดับต้น ๆ มากกว่าปีละ 5 ล้านคน มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องหันหน้ามาร่วมกันดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้ยอดผู้สูบบุหรี่กว่า 650 ล้านคน ไม่ต้องจบชีวิตก่อนวัยอันควร ขณะที่เมื่อหันกลับมาดูสถานการณ์ในประเทศไทยไทย ข้อมลูจากแผนงานควบคุมยาสูบในปี พ.ศ.2560-2564 เผยว่า ปัญหาการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนอายุรหะว่าง 15-18 ปี ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 6.58 เป็นร้อยละ 8.25 สอดคล้องกันกับข้อมูลของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ที่ระบุว่าเยาวชนไทยอายุต่ำกว่า 18 ปี ติดบุหรี่กว่า 400,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 70 จะไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ตลอดชีวิต หากยังได้รับการกระตุ้นจากกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบที่พยายามโฆษณาหลอกล่อเด็กและเยาวชนอีกด้วย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศ “นโยบายคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่และจัด “เขตสูบบุหรี่” เป็นการเฉพาะ พ.ศ. 2563” เพื่อมุ่งปรับพฤติกรรมคุมเข้มผู้สูบบุหรี่ในสถานศึกษาโดยจัดให้มีการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ในพื้นที่อาคาร สิ่งปลูกสร้าง สถานที่สาธารณะที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ พร้อมแสดงเครื่องหมายแยกเขตปลอดบุหรี่ และเครื่องหมายเขตสูบบุหรี่ให้ชัดเจน เพื่อดูแลพื้นที่ในเขตสูบบุหรี่ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยเหมาะสม ทั้งนี้ยังได้รณรงค์ให้นิสิตและบุคลากรเกิดแรงจูงใจร่วมลด ละ เลิกสูบบุหรี่
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “เราจำเป็นต้องดูแลทั้งผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ และผู้สูบบุหรี่ ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยจัดพื้นที่ที่เหมาะสม มีสัญลักษณ์เครื่องหมายแสดงเขตปลอดบุหรี่และเขตบุหรี่ได้ไว้ให้อย่างชัดเจน โดยเราคำนึงถึงเรื่องสุขภาวะของประชาคมเป็นสำคัญ จากเดิมที่ยังไม่มีการจัดพื้นที่สูบบุหรี่ในพื้นที่ส่วนกลางอย่างเป็นทางการเนื่องด้วยต้องดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งผลจากนำร่องการจัดพื้นที่สูบบุหรี่ในบางคณะ พบว่าเกิดประสิทธิผลทำให้แนวโน้มจำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลง นิสิตสูบบุหรี่ในพื้นที่ที่จัดไว้ให้และไร้ซึ่งควันบุหรี่รบกวนผู้อื่น ทั้งนี้เรากำลังประชาสัมพันธ์ และรณรงค์เรื่องนี้ภายในประชาคมอย่างเข้มข้น จะตรวจตราและทำความเข้าใจกับผู้ที่ฝ่าฝืนในเขตห้ามสูบให้ตระหนักถึงผลกระทบต่าง ๆ ต่อไปด้วย”
นอกจากนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังได้ผนึกกำลังกับศูนย์บริการสาธารณสุข 5 เครือข่ายการทำงาน ลงพื้นที่ชุมชนรอบมหาวิทยาลัยปรับพฤติกรรมประชาชน ออกให้บริการการเลิกบุหรี่แก่ประชาชนในชุมชนผ่านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับคณะทำงานด้านการแก้ไขปัญหาผู้เสพยาสูบ และยังได้สร้างเครือข่ายเภสัชอาสาพาเลิกบุหรี่สร้างเสริมสุขภาพ ในช่วงในวันงดสูบบุหรี่โลกที่ผ่านมาอีกด้วย