จุฬาอารี นวัตกรรมขับเคลื่อนสังคม ต้นแบบบูรณาการสหศาสตร์สานพลังเครือข่ายรับมือสังคมผู้สูงวัยไทย
อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มรูปแบบในอีกหนึ่งปีข้างหน้า?
สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปักหมุดให้ปี พ.ศ. 2564 เป็นปีสำคัญของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทย และกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” ตัวเลขประชากรไทยผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไป กำลังจะมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากความรุดหน้าทางด้านเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการแพทย์ของประเทศ ทำให้คนไทยมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น ประกอบกับนโยบายการวางแผนครอบครัวที่เน้นควบคุมการมีบุตรมาโดยตลอดนับสิบปีได้ส่งผลโดยตรงต่อการลดภาวะเจริญพันธุ์ของคนไทยลงอย่างรวดเร็ว และยังส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตของคนไทยลดลงอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุไทยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วยังกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะด้านการผลิตและการออมมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสังคมที่รัฐต้องเร่งแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นปัญหาผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง ปัญหาด้านสภาพจิตใจหลังวัยเกษียณ รวมไปถึงปัญหาค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลรักษาพยาบาลกลุ่มผู้สูงวัยทำให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว และนี่คือภาพสังคมไทยที่เราจะได้ประสบพบเจอในห้วงช่วงเวลานับจากนี้ไปอีกสามทศวรรษ และกำลังเป็นประเด็นท้าทายประเทศไทยให้จำต้องมีทางออกกับเรื่องนี้ก่อนจะสายเกินแก้
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดทำโครงการ“จุฬาอารี : โครงการบูรณาการสหศาสตร์เพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (Chulalongkorn University Platform for Ageing Research Innovation : Chula ARi) บูรณาการศาสตร์ในจุฬาฯ ที่หลากหลายทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและการมีส่วนร่วม ด้านประชากรและสังคม ด้านสภาพแวดล้อม และด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อออกแบบอนาคตผู้สูงอายุไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น โดยศึกษาข้อมูลจากผู้สูงวัยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใจกลางเมืองหลวง.4 ชุมชนใหญ่ ได้แก่ ชุมชนวังทองหลาง ชุมชนสามแพร่ง (แพร่งภูธร แพร่งนรา แพร่งสรรพศาสตร์) ชุมชนภาษีเจริญ และชุมชนแฟลตดินแดง โดยริเริ่มโครงการนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561
แก้ปัญหาสังคมผู้สูงวัยด้วยแนวทางบูรณาการสหศาสตร์ 5 ด้าน “จุฬาอารี” ได้บูรณาการองค์ความรู้และนวัตกรรมเสริมสร้างสังคมไทยในบริบทสังคมสูงวัยเชิงรุกจาก 12 หน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยมาใช้แก้ปัญหารับมือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย แบ่งเป็น 5 ด้าน ได้แก่
1) ด้านเศรษฐกิจและการมีส่วนร่วม เน้นการให้ความรู้เรื่องการออมและการวางแผนการเงิน การจัดการหนี้สิน และการทำงานของผู้สูงอายุ
2) ด้านประชากรและสังคม รวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลเพื่อให้ผู้สูงวัยเข้าใจและเข้าถึงสภาพปัญหา นำไปสู่การพัฒนาชุมชนด้วยนวัตกรรมฐานข้อมูล เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชน สร้างระบบฐานข้อมูลด้านกฎหมายผู้สูงอายุ พร้อมจัดทำประเด็นเฝ้าระวังด้านสังคมผู้สูงอายุ
3) ด้านสุขภาพ เน้นการสร้างความรู้รอบด้านใช้ประชากรวัยหนุ่มสาวและวัยสูงอายุ ช่วยส่งเสริมและป้องกันสุขภาพกาย สุขภาพฟัน สุขภาพจิต การฟื้นฟูสุขภาพและการดูแลแบบประคับประคอง โดยเพิ่มศักยภาพระบบการเยี่ยมบ้าน (Advance home health care plus) รวมทั้งเน้นการดูแลผู้สูงอายุด้วยหัวใจโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ หรือ Humanitude
4) ด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพ พัฒนาระบบสภาพแวดล้อมและบริการสาธารณะเพื่อรองรับผู้สูงอายุทั้งบริเวณภายในบ้าน ชุมชน และพื้นที่ส่วนกลาง รวมไปถึงระบบรถโดยสารในชุมชนอย่างรถจุฬาอารี
5)ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม นำนวัตกรรมด้านการส่งเสริมสุขภาพมาใช้ในผู้สูงอายุอย่างคอมพิวเตอร์เกมเพิ่มสมรรถภาพสมอง ป้องกันภาวะสมองเสื่อม หุ่นยนต์ฟื้นฟูกล้ามเนื้อแขนขา หุ่นยนต์ช่วยดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและผู้ป่วยติดเตียง ช่วยเชื่อมโยงระหว่างแพทย์ ผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้สูงอายุในลักษณะ Telemedicine ซึ่งหนึ่งในไฮไลท์สำคัญของโครงการคือหุ่นยนต์นินจา รุ่นจุฬาอารี