D071A9CE 2C7A 43D2 806D BAC3BAC0BB40

สำรวจความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 จาก ‘ทีมไทยแลนด์’ ผลิตเอง ใช้เอง ความหวังของคนไทยทั้งประเทศ

ผ่านไปเกือบ 1 ปีแล้ว หลังเริ่มพบการแพร่ระบาดของ ‘โควิด-19’ หรือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลก การพัฒนาวัคซีนสำหรับรับมือกับโควิด-19 จึงถือเป็นวาระสำคัญที่ทั้งโลกจับตามอง เพราะจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้คนในการใช้ชีวิตและการเดินทางมากยิ่งขึ้น

ทว่าการพัฒนาวัคซีนไม่ใช่เรื่องง่าย ข้อมูลจาก พญ.อรรถยา ลิ้มวัฒนายิ่งยง จากจดหมายข่าว ‘แวดวงวัคซีน’ โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ระบุว่า โดยทั่วไปแล้วการพัฒนาวัคซีนให้สำเร็จ 1 ชนิดอาจกินเวลาถึง 10-15 ปี อันเนื่องมาจากการทดสอบหลายขั้นตอนเพื่อให้ได้วัคซีนที่มีคุณภาพดีและมีความปลอดภัยสูง หลังจากการทดสอบในสัตว์ทดลองแล้วก็ต้องนำไปทดสอบในคนอีก 3 ระยะ ก่อนจะนำไปผลิตและขึ้นทะเบียนนำมาใช้ แต่การระบาดของอีโบลาในแถบแอฟริกาตะวันตก ทำให้มีการพัฒนาวัคซีนที่เร่งรัดจนสำเร็จในระยะเวลา 2 ปี ทำให้เกิดความหวังของการพัฒนาวัคซีนอย่างรวดเร็วเมื่อมีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้น

สำหรับการพัฒนาวัคซีนสำหรับโควิด-19 องค์การอนามัยโลกระบุว่าไม่ทราบแน่ชัดว่าเราจะมีวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพไว้พร้อมสำหรับการแจกจ่ายเมื่อใด แต่ก็คาดการณ์ว่าน่าจะเป็นช่วงต้นถึงกลางปี 2021 นี้ และขณะนี้เราก็ได้เห็นความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนจากทั่วโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร หรือรัสเซีย 

ส่วนประเทศไทยนั้นมีทั้งแนวทางการจัดหาวัคซีนจากต่างประเทศ การเตรียมการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และการวิจัย-พัฒนาวัคซีนเองภายในประเทศ

โดยกรณีของการพัฒนาและวิจัยวัคซีนภายในประเทศนั้น ประเทศไทยมีทีมนักวิจัยและพัฒนาวัคซีนจากหลายหน่วยงานที่กำลังทำงานเพื่อค้นหาวัคซีนสำหรับโควิด-19 เราจะลองมาสำรวจตัวอย่างของทีมพัฒนาวัคซีนเหล่านี้ รวมถึงความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนจากฝีมือคนไทยกัน

วัคซีนจุฬาฯ คืบหน้า 

เริ่มจากการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ที่มีชื่อว่า Chula-Cov19 โดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียในสหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อนหน้านี้มีการแถลงว่าผลการทดสอบในสัตว์ทดลอง ได้แก่ หนูและลิง ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และกำลังจะเริ่มทดสอบในมนุษย์ 3 ระยะ โดยเริ่มตั้งแต่ภายในสิ้นปี 2563 และหากการทดสอบในมนุษย์ทั้งระยะที่ 1 และ 2 ได้ผลน่าพอใจ ก็จะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่อไปยังบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีน Chula-Cov19 ใช้ได้เองทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้านแถบอาเซียน

วัคซีนโควิด-19 จากใบยา ที่ผลิตได้ในประเทศตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

อีกหนึ่งความพยายามในการพัฒนาวัคซีนก็เป็นของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด สตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่ได้รับการบ่มเพาะจากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งกำลังพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19 จากใบพืชตระกูลยาสูบ สปีชีส์ ‘N. benthamiana’ ที่ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ผู้ร่วมคิดค้นวัคซีนดังกล่าวระบุว่า เป็นการแกล้งใบพืชให้สร้างโปรตีนตามที่กำหนดไว้ แล้วสกัดเอาโปรตีนออกมาใช้งานในการผลิตวัคซีน

ซึ่งความคืบหน้าในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาคือวัคซีนต้นแบบชนิดแรกจากทั้งหมด 6 ชนิดได้รับการทดสอบในสัตว์ทดลอง ได้แก่ หนูขาวและลิง แล้ว สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในสัตว์ทดลองทั้ง 2 ชนิดได้ในปริมาณสูงจากการฉีดวัคซีนเพียง 2 ครั้ง และจะเข้าสู่ขั้นตอนของการตรวจสอบภูมิคุ้มกันของลิงหลังได้รับวัคซีนไปแล้ว 6 เดือน เพื่อดูว่าภูมิคุ้มกันของลิงลดลงหรือไม่ และเมื่อฉีดไวรัสแล้วจะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้หรือไม่ นอกจากนี้ยังจะมีการทดสอบในหนูแฮมสเตอร์ และมีการทดสอบความเป็นพิษในสัตว์ทดลองเพื่อดูว่าวัคซีนมีผลอย่างไรต่ออวัยวะในร่างกายและตรวจสอบว่าเป็นพิษหรือไม่ จากนั้นจะเป็นการผลิตในระดับอุตสาหกรรมแล้วจึงทดสอบในมนุษย์ ซึ่งต้องใช้เวลาในการหาสถานที่ผลิตที่ได้มาตรฐาน

‘การพัฒนาวัคซีนจากใบยาสูบเป็นเทคนิคที่มีการใช้กันในหลายประเทศทั่วโลก และใบยา ไฟโตฟาร์ม ได้นำมาพัฒนาเป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อให้ไทยมีวัคซีนที่ผลิตได้เองในประเทศ 100% โดยไม่พึ่งพาต่างชาติ ภายในปี 2564 จะได้เป็นหลักประกันด้านสุขภาพให้กับคนไทยได้หากเกิดการระบาดระลอกสอง แต่ทางใบยายังขาดเงินทุนก้อนสุดท้ายเพื่อใช้ในการทดสอบวัคซีนในคนและสร้างโรงงานผลิตวัคซีนจากใบพืช หากมีงบเพียงพอและผลิตวัคซีนสำเร็จก็ดูจะเป็นอีกหนึ่งความหวังที่คนไทยทุกคนจะได้รับวัคซีนได้เร็วขึ้น เพราะสามารถวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของเราเองได้ด้วยคนไทยเองถึง 1 ล้านโดสต่อเดือน’

ทั้งนี้ทีมพัฒนาคาดการณ์ไว้ว่าจะเริ่มทดสอบในอาสาสมัครได้ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 และยื่นขออนุญาตใช้ในกรณีฉุกเฉินได้ในเดือนธันวาคม 2564

วัคซีน สวทช. ไม่ต้องใช้เชื้อไวรัสโควิด-19

ต่อมาคือทีมนักวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่พัฒนาวัคซีนโดยใช้เทคโนโลยีที่ไม่ต้องใช้เชื้อไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 โดยตรง วัคซีนที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา อาทิ วัคซีนในรูปแบบไวรัสเวกเตอร์ ซึ่งใช้ไวรัสที่ไม่มีอันตรายเพื่อนำส่งโปรตีนของไวรัสโควิด-19 ให้ร่างกายทำความรู้จักและกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนดังกล่าว 

ทั้งนี้ไวรัสที่ไม่มีอันตรายนี้จะติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ แต่ไม่มีการเพิ่มปริมาณเพราะถูกทำให้อ่อนฤทธิ์และไม่ทำให้ก่อให้เกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์ เป็นต้น ซึ่งหลักการนี้สามารถนำมาพัฒนาวัคซีนในหลายรูปแบบ แต่หนึ่งในรูปแบบของวัคซีนที่ก้าวหน้าที่สุดกำลังได้รับการทดสอบในสัตว์ทดลอง

นอกจากนี้แล้วยังมีทีมวิจัยและพัฒนาวัคซีนจากหน่วยงานอื่นๆ อีก เช่น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์​ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน มหาวิทยาลัยมหิดล,  คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, องค์การเภสัชกรรม หรือภาคเอกชนอย่างบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย เป็นต้น ซึ่งวัคซีนชนิด DNA ที่พัฒนาโดยบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย ก็กำลังมีความคืบหน้าในขั้นการเตรียมเข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ในระยะที่ 1 เช่นกัน หน่วยงานเหล่านี้กำลังพัฒนาวัคซีนในหลายรูปแบบ และโดยรวมแล้วประเทศไทยมีวัคซีนกว่า 20 ชนิดที่อยู่ระหว่างการพัฒนา

แม้จะมีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะได้วัคซีนมาใช้ในปี 2564 จากความพยายามในการจัดหาวัคซีนและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างชาติที่กำลังเกิดขึ้น แต่การวิจัยและพัฒนาวัคซีนเองภายในประเทศก็ยังมีความจำเป็น เพื่อสร้างความพร้อมให้ไทยสามารถพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนได้ และพร้อมในการรองรับกับโรคอุบัติใหม่ต่างๆ ในอนาคต

และนี่คือส่วนหนึ่งจากสรรพกำลังของ ‘ทีมไทยแลนด์’ ในด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

Tags:
WordPress Cookie Notice by Real Cookie Banner