5D0E4E91 1253 4994 AD4D BA0AB45B9A9C

รัฐช่วยจ่ายเงินเดือน 50% จูงใจบริษัทเอกชน “จ้างงานใหม่”

รองนายกฯ “สุพัฒนพงษ์” เร่งสปีดแก้ปมคน “ว่างงาน” โหมโรงออกมาตรการอุดหนุนเงินให้ผู้ประกอบการ “จ้างงานใหม่” เน้นดูดซับบัณฑิตจบใหม่ 4 แสนคน คณะทำงานชงสูตร รัฐ “ช่วยจ่ายเงินเดือน” 5,000-7,500 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 1 ปี ประเมินใช้เงิน 2.4-3.6 หมื่นล้านบาท ชงเข้า ครม.สัญจรระยอง 25 ส.ค.นี้ พร้อมเดินสายเจรจาบริษัทยักษ์ ให้นำร่องเดินหน้าจ้างงานเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ ขาใหญ่ “ซี.พี.-บีทีเอส-ปตท.-บางจาก” รับลูกขยายลงทุนจ้างงานเพิ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากผลกระทบของโควิด-19 ปัญหาวิกฤตคนตกงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากธุรกิจมีการเลิกจ้างและปิดกิจการเพิ่มมากขึ้นโดยตัวเลขล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 2/2563 ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติมีจำนวนคนตกงาน 7.5 แสนคน และมีกลุ่มเสี่ยงตกงานในช่วงครึ่งปีหลังอีก 1.7 ล้านคน และมีกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ที่จะเข้ามาในตลาดแรงงานปีนี้อีก 4-5 แสนคน ทำให้ปัญหา “ว่างงาน” เป็นหนึ่งในปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องเร่งออกมาตรการมาดูแล

รัฐช่วยจ่ายเงินเดือน 50%

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงมาตรการแก้ปัญหา “ว่างงาน” ว่า นโยบายหลักที่ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 (ศบศ.) เห็นชอบ คือ จะมีมาตรการจูงใจเอกชนให้มาร่วมมือกับรัฐบาลในรูปแบบ “ร่วมจ่าย” หรือ co-payment จะสะดวกและรวดเร็วกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือและจัดทำรายละเอียดจำนวนผู้ตกงาน จำนวนผู้เดือดร้อนที่แน่นอน โดยมาตรการดูแลคนตกงานจะมีมาตรการภายใต้เงินงบประมาณปี 2564 และมาตรการภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ ในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท คาดว่าจะรวบรวมความต้องการแรงงานในอนาคตได้หลักล้านตำแหน่ง ซึ่งจะว่าจ้างในระยะสั้น 12 เดือน แต่ก็ต้องมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมโครงการกันด้วย

“ในการสนับสนุนการจ้างงานแบ่งออกเป็น บัณฑิตจบใหม่ 400,000 คน และคนที่ตกงานอยู่อีก 400,000 คน ไม่รวมคนที่จะตามมาอีก ซึ่งจะมีการหารือกันว่าจะสนับสนุนคนละเท่าไหร่ จะครึ่งหนึ่ง หรือจะกี่พัน เช่น บริษัทเอกชนจ้างงานใหม่เข้ามา รัฐจะร่วมจ่ายครึ่งหนึ่ง หรือไม่เกินจำนวนเท่าไหร่ แต่จะไม่ใช้วิธีหักลดหย่อนภาษีเหมือนที่เคยทำเพราะช้า แต่จะให้อินเซนทีฟแบบจ่ายครึ่งราคา”

เดินสายถกบริษัทยักษ์

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ตนจะเดินสายคุยกับบริษัทเอกชนเพื่อทำความเข้าใจปัญหาประเทศ และมาตรการต่าง ๆ ที่จะร่วมมือกับรัฐบาล รวมทั้งขอให้โครงการลงทุนอย่าเพิ่งไปดีเลย์ ให้เดินหน้าต่อ เพราะเป็นการสร้างงาน และสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ นโยบายและมาตรการต่าง ๆ ต้องผลักดันให้สำเร็จ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้นักลงทุนกลับมาลงทุน โดยเมื่อ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการพบกลุ่มธุรกิจพลังงานเป็นกลุ่มแรก ประมาณ 20 บริษัท ที่กระทรวงพลังงานกำกับดูแล เช่น ปตท. และบริษัทในเครือ รวมถึงธุรกิจไฟฟ้า เช่น กฟผ. ราชบุรีกรุ๊ป เอ็กโก้ เป็นต้น

“ถ้าภาคเอกชนที่ยังพอมีกำไรอยู่บ้าง เข้ามาร่วมในมาตรการที่รัฐบาลเสนอเรื่องของการจ้างแรงงาน พัฒนาอะไรต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการจ้างบัณฑิตจบใหม่ที่จะเสนอ ครม.สัญจร ที่จังหวัดระยอง ในวันอังคารที่ 25 สิงหาคม 2563”

“เราเริ่มจากกลุ่มที่มีความเชื่อมี believe ก่อน จากนั้นค่อยจุดพลุขึ้นมา เกิดมิติใหม่ เกิดความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งที่จะมาช่วยกัน แล้วขยายผลไปยังอุตสาหกรรมกลุ่มอื่น ๆ และบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ วันนี้เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคคลี่คลาย บางคนกลับสู่สภาพเดิม บางคนกลับใกล้เคียงสภาพเดิม แต่บางคนยังลำบากอยู่ และบริษัทที่มีกำไรได้ ไม่ใช่เพราะตัวเอง แต่ต้องมีลูกค้า ต้องมี stakeholder ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น วันนี้ต้องหันกลับไปดูสิ่งเหล่านี้กันใหม่ เป็นวาระของทุกคน เป็นวาระของประเทศ”

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับรัฐและเอกชนด้านพลังงาน ได้มอบหมายให้ช่วยกันคิดว่าจะช่วยแก้ไขเศรษฐกิจได้อย่างไร โดยเฉพาะรองรับการจ้างงานของนักศึกษาจบใหม่ และการช่วยเหลือ SMEs ตามนโยบายที่รัฐบาลมุ่งแก้ปัญหาช่วยเหลือคนตกงาน และนักศึกษาจบใหม่ที่มีจำนวน 400,000 คน ที่คาดว่าจะตกงาน โดยให้นำกลับมาเสนอภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อเน้นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน ผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในปีงบประมาณ 2564

จ่ายเดือนละ 5,000 บาท ยาว 1 ปี

แหล่งข่าวจากกระทรวงแรงงานเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากนโยบายของรัฐบาลแก้ปัญหา “คนว่างงาน” โดยที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะเข้าไปอุดหนุนการจ้างงานของภาคเอกชน ในลักษณะช่วย “จ่ายเงินเดือน” ให้กับแรงงานที่เป็นการจ้างงานใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ประมาณ 4 แสนคน โดยจากที่ได้มีการประชุมหารือของคณะทำงาน มีข้อเสนอการอุดหนุน 5,000-7,500 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 12 เดือน ซึ่งยังไม่ได้สรุปตัวเลขที่ชัดเจน เพราะก็ยังมีข้อถกเถียงว่า ตัวเลขไหนเหมาะสม

“ในกรณีการรับบัณฑิตจบใหม่เข้ามาทำงานเงินเดือน 15,000 บาท รัฐบาลอาจช่วยจ่าย 5,000 บาท และเจ้าของธุรกิจจ่าย 10,000 บาท หรือจะเป็นการแบ่งจ่ายคนละครึ่ง คือ 7,500 บาท ซึ่งก็มีข้อคิดเห็นที่ต้องพิจารณาหลายด้าน จากตัวเลขดังกล่าวประเมินคร่าว ๆ จะต้องใช้เม็ดเงินประมาณ 24,000-36,000 ล้านบาท สำหรับการดูดซับแรงงานจบใหม่ ประมาณ 4 แสนคน ในช่วงระยะเวลา 1 ปี”

อย่างไรก็ตาม บริษัทที่เข้าร่วมโครงการเพื่อรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลจะต้องมีเงื่อนไขว่า จะต้องไม่มีการปลดพนักงานออก รวมทั้งอาจต้องมีเงื่อนไขอื่น ๆ เพิ่มเติม เพราะก็อาจเป็นคำถามจากสังคมว่า รัฐบาลเอาเงินไปช่วยอุดหนุนธุรกิจขนาดใหญ่ สิ่งที่ต้องอธิบายคือโครงการนี้ต้องให้ธุรกิจขนาดใหญ่ช่วยให้เกิดการจ้างงานใหม่ ซึ่งจากภาวะปกติ องค์กรธุรกิจอาจจะมองแต่ในแง่ของการลดต้นทุนเป็นหลัก

ซี.พี.รับลูกจ้างงานทักษะใหม่

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานบริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซี.พี. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีหากรัฐบาลมีนโยบายที่จะผลักดันให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศถึง 1 ล้านตำแหน่ง หรืออาจมากกว่านั้น ซึ่งการจะเข้าร่วมคงต้องดูรายละเอียดก่อนว่า วิธีการจะเป็นอย่างไร แต่ในภาพใหญ่ของเครือ ซี.พี. มีนโยบายชัดเจนอยู่แล้วในการรักษาพนักงานที่มีอยู่เดิม และจ้างงานเพิ่มเติมในส่วนที่ต้องเปลี่ยนแปลง และต้องการทักษะใหม่ ๆ หรือเป็นเรื่องใหม่

กลุ่ม BTS อ้าแขนรับนโยบาย

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) กล่าวว่า บริษัทพร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ หรือคนที่ว่างงานในช่วงโควิด-19 เนื่องจากเป็นนโยบายที่ดี แต่ขอดูรายละเอียดก่อนถึงจะกำหนดแผนงานออกมาได้สอดรับกับ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้ตั้งโต๊ะเปิดรับนักศึกษาที่จะจบมาทำงานในบริษัทอยู่แล้ว มีทุกด้าน มากที่สุดเป็นวิศวกร และพนักงานบนสถานีรถไฟฟ้า เพื่อรองรับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ปลายปี 2563 และสายสีชมพู และสายสีเหลือง ในเดือน ต.ค. 2564

นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น กล่าวว่า ทุกปีบริษัทจะรับพนักงานเพิ่มอยู่แล้ว มีทั้งวิศวกรและช่างควบคุมงาน ทั้งปริญญาตรีและวุฒิ ปวส. เพราะบริษัทมีงานก่อสร้างอยู่ในมือจำนวนมาก

ปตท.เร่งลงทุนขยายงาน

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.เตรียมจัดทำแผนกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐ โดย ปตท.จะเดินหน้าโครงการทั้งหมดให้กลับมาเต็ม 100% เพื่อให้เกิดการจ้างงานในโครงการที่รับผิดชอบอยู่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับบริษัทในกลุ่มถึงการช่วยเหลือด้านใดได้บ้าง ทั้งช่วยหาตลาดให้ชุมชน และวิสาหกิจชุมชนนำสินค้ามาขายในปั๊มน้ำมัน การทำแพลตฟอร์มดิจิทัลให้ขายผ่านระบบออนไลน์

“เรื่องการจ้างงานเราจะดูอย่างโครงการก่อสร้างของเรา พวกงานช่างตรงไหนจะรับเข้ามาได้บ้าง จะดูในหลายมิติว่าจะมีงานที่เหมาะสมกับคนว่างงานอยู่ตอนนี้หรือไม่ เพราะ ปตท.เป็นองค์กรขนาดใหญ่จึงมีส่วนช่วยได้ นโยบายของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ จึงอยากให้เราเข้ามาช่วยพลิกฟื้น”

“อินทนิล” รับคนขยายสาขา

ด้านนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บางจากฯยินดีและพร้อมกระตุ้นการจ้างงานตามนโยบายรัฐบาล โดยหลัก ๆ จะมุ่งเน้นการจ้างงานด้วยการสนับสนุนสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้คนที่ตกงานมีงานทำ สร้างรายได้จากสินค้าของชุมชนทั่วประเทศ โดยจะเพิ่มพื้นที่ให้มีการจำหน่ายสินค้าตามปั๊มบริการของบางจาก เพราะโควิด-19 ทำให้คนกลับมาทำงานที่ภูมิลำเนาค่อนข้างเยอะ

ขณะที่จะเห็นการจ้างงานเพิ่มในส่วนของธุรกิจ nonoil จากการขยายสาขาร้านกาแฟอินทนิลอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมี 631 สาขา พร้อมทั้งร้านค้าพันธมิตร ซึ่งทั้งหมดนี้จะเชื่อมโยงไปกับนโยบายช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวของรัฐบาล และรองรับวิถีใหม่ของผู้บริโภคด้วย อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าครึ่งปีหลัง สถานการณ์การใช้น้ำมันในประเทศจะกลับมาดีขึ้น เพราะคนเริ่มเดินทางใช้รถยนต์ส่วนตัว ดังนั้น บริษัทจะไม่หยุดขยายและพัฒนาสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 1,212 สถานีทั่วประเทศ

เอสซีจีแบ่งรับแบ่งสู้

นายยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง เอสซีจี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากรัฐบาลขอความร่วมมือ เอสซีจีต้องพิจารณาว่า บริษัทจะมีงานที่เหมาะกับคุณสมบัติของผู้สมัครหรือไม่ อย่างไรก็ตาม อยากเสนอให้มาตรการแบบสมัครใจ ตามกำลังความสามารถของแต่ละอุตสาหกรรม โดยให้แต่ละบริษัทพิจารณาเอง

“เอสซีจีเป็นธุรกิจผสมผสานระหว่างการผลิตสินค้าและบริการ รวมถึงงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิต ซึ่งใช้แรงงานที่มีทักษะต่างกัน แรงงานภาคการผลิตต้องรู้และเข้าใจเทคโนโลยีการผลิตจริง ๆ ซึ่งต้องผ่านการอบรม 3-6 เดือนเป็นอย่างน้อย กว่าจะเริ่มงานได้จริง จึงมีความเป็นไปได้น้อย ส่วนแรงงานที่ไม่เกี่ยวกับการผลิตมีโอกาสพิจารณา ถ้าตำแหน่งว่าง”

เนื่องจากที่ผ่านมาภาคเอกชนประสบภาวะการค้าขายซบเซา จึงอยากเสนอให้รัฐออกมาตรการส่งเสริมและจูงใจ คล้ายมาตรการส่งเสริมการวิจัยพัฒนา หรือฝึกอบรม โดยมาตรการส่งเสริมจากรัฐบาลนั้นไม่ควรกำหนดตายตัว ยิ่งสถานการณ์เช่นนี้ควรช่วยเหลือให้เกิดการจ้างงานให้มากที่สุดก่อน

ส.อ.ท.ห่วงกระทบกำลังซื้อ

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานและประธานคณะอนุกรรมการฟื้นฟู หลังไวรัสโควิด-19 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากที่ภาครัฐเตรียมมาตรการอุดหนุนการจ้างงานใหม่ มองว่าเป็นมาตรการที่ดีที่พึงกระทำในภาวะนี้ เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้มีคนตกงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และหากไม่เร่งแก้ปัญหา ประเมินว่า ณ สิ้นปี 2563 จำนวนคนตกงานอาจพุ่งสูงถึง 7-8 ล้านราย จากปัจจุบันอยู่ที่ 7.5 แสนคน

“การที่ภาครัฐจะอุดหนุนการจ้างงาน จะช่วยอุ้มให้กลุ่มคนตกงานมีรายได้มากขึ้น ซึ่งหากไม่ช่วยเรื่องการจ้างงาน มองว่าจะส่งผลต่อเนื่อง ทำให้กำลังซื้อลดลง และปัญหาอาชญากรรมจะตามมา เพราะการที่ตกงาน 1 คน เราต้องมองผลกระทบคูณ 3 ไปยังครอบครัวด้วย ถ้าตกงาน 1 ล้านคน หมายถึงคน 3 ล้านคนจะได้รับผลกระทบ” นายเกรียงไกรกล่าวและว่าทั้งนี้ มองว่าอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ภาครัฐสามารถอุดหนุนการจ้างงาน ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร การเกษตร อุปกรณ์ทางการแพทย์ และสุขภาพ เช่น ถุงมือยาง หน้ากากอนามัย เจลแอกอฮอล์ ฯลฯ

คลังทบทวนชะลอเลิกจ้าง

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ออกมาตรการรักษาการจ้างงานไว้ในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. 63 ซึ่งธุรกิจที่คงการจ้างแรงงานไว้ในช่วง 3 เดือนนี้ จะสามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า ซึ่งกระทรวงการคลังก็จะกลับมาประเมินอีกครั้งว่า มาตรการดังกล่าวได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการอย่างไร

อย่างไรก็ดี เรื่องกระตุ้นการจ้างงานเป็นเรื่องที่กระทรวงแรงงานเป็นผู้ดูแล แต่ในส่วนกระทรวงการคลังก็จะเข้าไปดูว่า ที่ผ่านมาได้ออกมาตรการดังกล่าวไปแล้วได้รับการตอบรับอย่างไร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประมวลผล ซึ่งก็ได้โจทย์จาก ศบศ.ว่า มาตรการที่เกี่ยวข้องของกระทรวงการคลังมีส่วนใดบ้าง และหากหมดอายุไปแล้ว กระทรวงการคลังจะทำอย่างไรต่อไป

“ขณะนี้สรรพากรยืดระยะเวลาการยื่นแบบภาษีออกไป ทำให้กระทรวงการคลังจะเห็นข้อมูลผู้เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือลูกจ้างในช่วง ก.ย.-ต.ค. 63 ซึ่งหากได้ข้อสรุปแล้ว จะพิจารณาอีกครั้งว่าจะมีการขยายระยะเวลามาตรการคงจ้างงาน แลกลดหย่อนภาษี 3 เท่า ออกไปอีกหรือไม่”

ที่มา https://www.prachachat.net/economy/news-509975

Tags:
WordPress Cookie Notice by Real Cookie Banner