สนพ.ศึกษาดึงไฟฟ้าจากแบตฯ EV ขายเข้าระบบ
กระทรวงพลังงานส่งเสริมการใช้รถ EV เตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน-สถานีชาร์จ ด้านสนพ.ศึกษาดึงไฟฟ้าจากแบตเตอรี่รถ EV ขายเข้าระบบ ด้านภาคเอกชนแนะรัฐควรเร่งสร้างดีมานด์ในประเทศ
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยความคืบหน้าแผนส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยว่า กระทรวงพลังงานส่งเสริมการใช้รถ EV จำนวน 1.2 ล้านคันภายในปี 2573 ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2018) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านระบบไฟฟ้า สถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) และเทคโนโลยีรถ EV
ขณะเดียวกัน กระทรวงพลังงานยังมีแผนระบบสายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid), ระบบมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Meter) และแผนลดการใช้ไฟฟ้าประชาชนภาคสมัครใจ(Demand Response) มั่นใจว่าระบบไฟฟ้าจะมีรองรับรถ EV ในช่วงเปลี่ยนผ่านได้อย่างเพียงพอ อาจรองรับได้มากถึง 3 ล้านคัน
นายวัฒนพงษ์กล่าวว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างศึกษากรณีให้ผู้ใช้รถ EV สามารถขายไฟฟ้าส่วนเหลือจากแบตเตอรี่รถ EV ขายเข้าระบบผลิตไฟฟ้าได้ เพื่อให้ระบบแบตเตอรี่รถ EV กลายเป็นระบบสำรองไฟฟ้าช่วยเสริมความมั่นคงไฟฟ้าประเทศ โดยเฉพาะกรณีประเทศเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) นับเป็นการลดการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อรองรับพีคได้อีกด้วย โดยกระทรวงจะต้องศึกษาทั้งรูปแบบและกฎระเบียบรองรับแนวทางดังกล่าวต่อไป
สำหรับเทคโนโลยี สถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) มีความก้าวหน้าขึ้นมากสามารถคำนวณได้ว่าควรจะชาร์จไฟฟ้าช่วงไหนเพื่อให้ได้อัตราค่าชาร์จไม่แพง รวมถึงแบตเตอรี่รถ EV สามารถทำเป็นโรงไฟฟ้าเสมือนได้ ด้วยการให้รถ EV สามารถปล่อยประจุไฟฟ้ากลับเข้าสู่ระบบผลิตไฟฟ้า เพื่อสร้างรายได้ให้ผู้ใช้รถ EV ได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งกระทรวงพลังงานจะต้องนำมาศึกษารูปแบบและประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับประเทศต่อไป
นายระวี มาศฉมาดล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันราคาแบตเตอรี่คิดเป็น 40-50% ของราคารถ EV หากราคาแบตเตอรี่ลดเหลือเพียง 30% จะทำให้รถ EV มีราคาเท่ากับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันในปัจจุบัน หากไทยไม่ปรับตัวตั้งแต่ตอนนี้จะส่งผลให้ไทยเสียฐานการผลิตรถ EV ของอาเซียนให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นคณะกรรมธิการพลังงาน ได้จัดตั้งอนุกรรมาธิการยานยนต์ไฟฟ้าขึ้น เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวทางการเปลี่ยนแปลงนโยบายประเทศอย่างไรเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการใช้รถ EV จากการหารือร่วมกันเบื้องต้นได้ข้อสรุปว่าการขับเคลื่อนให้ประสบผลสำเร็จจะต้องร่วมมือกับระหว่างภาครัฐที่กำกับนโยบาย ภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้ลงทุนและภาคประชาชนที่เป็นผู้ใช้จึงจะสำเร็จ
ปัจจุบันไทยมีรถ EV ที่จดทะเบียนใหม่จำนวน 3,076 คัน รวมสะสมตั้งแต่ปี 2558 เป็น 4,301 คัน ส่วนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะทั่วประเทศอยู่ที่ 557 แห่ง
ด้านนายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA กล่าวว่า รัฐต้องวางแผนส่งเสริมใช้รถ EV อย่างเป็นระบบ เริ่มด้วยการสร้างความต้องการใช้ให้เกิดขึ้นในประเทศ โดยการลดอุปสรรคด้านราคารถ EV ก่อน ด้วยการกำหนดปริมาณแบตเตอรี่ให้พอเหมาะกับความต้องการใช้ หากใส่มากเกินไปจะทำให้ราคารถแพงและประชาชนเข้าไม่ถึง รวมถึงต้องมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าเฉลี่ย 50 กิโลเมตรต่อสถานีทั่วประเทศ และใช้เวลาชาร์จด้วยความเร็ว 15-20 นาที จากนั้นต้องนำร่องให้มีการใช้รถEVในรถสาธารณะ รถแท็กซี่ และรถยนต์ของราชการก่อน เมื่อมีความต้องการใช้จะส่งผลให้เกิดผู้ผลิตรถ EV ผู้ผลิตแบตเตอรี่ และผู้ผลิตชิ้นส่วน EV และท้ายสุดทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางรถ EV ในอาเซียนต่อไปที่มา