จุฬาฯ สืบศาสตร์สานศิลป์ ชุบชีวินศิลปินไทย
อีกบทบาทหนึ่งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญ คือ การทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ทั้งการอนุรักษ์ การพัฒนาองค์ความรู้และสิ่งทรงคุณค่า รวมถึงการส่งเสริมและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม เพื่อทำให้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมของนิสิต คณาจารย์ บุคลากร และสังคมไทย ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา จุฬาฯ มุ่งพัฒนาองค์กรให้เป็นหน่วยงานหลักจัดเก็บและจัดการด้านข้อมูลศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนสนับสนุน เอื้ออำนวย และให้คำปรึกษาแก่ส่วนงานและหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย โดยมีโครงการสำคัญเป็นที่ประจักษ์ชัด 3 โครงการ ได้แก่ โครงการจุฬาฯ จารึกบันทึกคนดนตรี โครงการจัดทำวีดิทัศน์เชิดชูเกียรติศิลปิน และโครงการจัดทำวีดิทัศน์องค์ความรู้การอนุรักษ์สงวนรักษาผลงานศิลปกรรม มุ่งสืบสานมรดกดนตรีชาติ “จุฬาฯ จารึกบันทึกคนดนตรี” หอสมุดดนตรีไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นห้องสมุดเฉพาะทางด้านดนตรีไทยเพียงไม่กี่แห่งในประเทศที่มีจุดเด่นเป็นหอสมุดดนตรีที่ให้บริการในระบบดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบแห่งแรกในสถาบันอุดมศึกษา ก่อตั้งขึ้นจากแนวคิดของมหาวิทยาลัยที่มุ่งทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ จึงจัดทำโครงการบันทึกข้อมูลเพลงไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาจนปัจจุบันกว่า 30 ปี นับเฉพาะบทเพลงไทยมีการบันทึกไว้ในฐานข้อมูลเพลงนี้มีมากกว่า 10,000 เพลง ปัจจุบันหอสมุดดนตรีไทยมีภารกิจหลักให้บริการสืบค้นข้อมูลเพลงไทยด้วยระบบสารสนเทศแก่นิสิต นักศึกษา จนถึงระดับบัณฑิตศึกษา และนักวิจัย รวมทั้งบุคคลที่สนใจโดยทั่วไป ทั้งด้านไฟล์เสียง วีดิทัศน์ และหนังสือหายากทางดนตรีไทย นอกจากนี้ ยังมีห้องจัดนิทรรศการหมุนเวียน และห้องพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเครื่องดนตรีไทยชิ้นสำคัญอีกด้วย ในปี พ.ศ. 2561 […]