วิศวจุฬาฯ ปลอบขวัญน่าน ส่งข้าวสาร 4 ตัน พร้อมอุปกรณ์ฟื้นฟูบ้านหลังน้ำลด
26 ส.ค.67 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย รศ.ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดี พร้อมผู้บริหารและคณาจารย์ เฝ้าติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนืออย่างใกล้ชิด แสดงความห่วงใยและเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดน่าน โดยเร่งประสานขอความร่วมมือจากประชาคมวิศวจุฬาฯ และสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สวจ.) ระดมทุนและอุปกรณ์จำเป็นอย่างเร่งด่วนเพื่อจัดส่งไปบรรเทาทุกข์พี่น้องประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแล้ว
การดำเนินการครั้งนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากทุกภาคส่วน สามารถรวบรวมสิ่งของบรรเทาทุกข์ที่จำเป็น มูลค่ากว่า 100,000 บาท ได้อย่างรวดเร็ว และได้ประสานหน่วยงานที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เพื่อส่งมอบความช่วยเหลือให้ถึงมือผู้ประสบภัยโดยตรง
รศ.ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า “ทันทีที่เราทราบถึงความเดือดร้อนของพี่น้องชาวน่าน พวกเราชาววิศวจุฬาฯ ก็ได้เร่งระดมความช่วยเหลือเร่งด่วนชวนกันมาปันน้ำใจให้เพื่อนพี่น้องคนไทยด้วยกัน โดยเฉพาะในพื้นที่น่านเองเรามีโครงการร่วมกันพัฒนาแหล่งน้ำให้กับชาวบ้านจึงผูกพันกันมานาน ยามมีภัยเราและภาคีเครือข่ายจึงต้องรีบช่วยเหลือกันทันทีเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเป็นกำลังใจให้พี่น้องชาวน่านผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้โดยเร็ว”
รายการสิ่งของที่จัดส่งไปยังพื้นที่ประสบภัยประกอบด้วยสิ่งจำเป็นหลากหลายประเภท ได้แก่ ยารักษาโรคที่จำเป็นสำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น อุปกรณ์ทำความสะอาดที่จะช่วยฟื้นฟูบ้านเรือนหลังน้ำลด เช่น ถุงขยะจำนวน 100 กิโลกรัม รองเท้าบูท 200 คู่ ถุงมือยาง 240 คู่ ไม้กวาดทางมะพร้าว 200 อัน ตะกร้า 100 อัน และไม้ถูพื้น 100 อัน นอกจากนี้ยังมีน้ำยาทำความสะอาดและน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่อาจเกิดขึ้นหลังน้ำท่วม และสิ่งที่โดดเด่นในความช่วยเหลือครั้งนี้คือการจัดส่งเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงจำนวน 10 เครื่อง ซึ่งจะมีส่วนสำคัญเร่งระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ ช่วยให้ชุมชนสามารถเริ่มกระบวนการฟื้นฟูได้เร็วขึ้น
ในส่วนการสนับสนุนด้านอาหาร คณะได้จัดส่งข้าวสาร จำนวน 80 กระสอบ รวม 4 ตัน เพื่อใช้ประกอบอาหารช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยจัดสรรให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน จำนวน 10 กระสอบ เหล่ากาชาดจังหวัดน่าน จำนวน 30 กระสอบ หน่วยทหารในพื้นที่ จำนวน 30 กระสอบ และจุฬา-น่าน จำนวน 10 กระสอบ เพื่อให้แต่ละหน่วยงานนำไปประกอบอาหารแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัยได้อย่างทั่วถึง
นอกจากการระดมทุนและสิ่งของแล้ว คณะยังมีแผนจัดส่งกำลังคนลงพื้นที่โดยประสานงานนิสิตจุฬาฯ ในจังหวัดน่านอาสาเข้าร่วมปฏิบัติการลำเลียงและขนส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปยังจุดรับบริจาค แสดงพลังจิตอาสาและความมุ่งมั่นของเยาวชนรุ่นใหม่มุ่งช่วยเหลือสังคมยามยาก