ติวเข้มอาสา ‘กล่องรอดตาย’ รับมือ ‘โอไมครอน’ ไทยหวั่นลามใต้ติดเชื้อเฉียดหมื่น
ศิษย์เก่าจุฬาฯ เรียกดรีมทีมสุมหัว ติวเข้มรับมือโควิดกลายพันธุ์ หวั่นภาคใต้ระบาดหนัก หมอวิชาญคาดเดือนหน้าติดเชื้อใหม่อาจแตะหมื่น สงขลา-เมืองคอนยังอ่วม ตรัง-พัทลุง-ปัตตานี-นราธิวาส เริ่มขยับขอรับกล่องรอดตายแล้ว
ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2564 สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) ได้จัดกิจกรรมถกถ้อยเสวนาในหัวข้อ “เตรียมรับมือโอไมครอน VS กู้วิกฤตโควิดภาคใต้” อัพเดทสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าระลอกใหม่ทั่วโลก และแนวโน้มการแพร่ระบาดในประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมให้กลุ่มอาสาสมัครกล่องรอดตายกว่า 200 คน พร้อมรับมือและร่วมสนับสนุนภารกิจของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยได้รับเกียรติจาก ศ.นพ.กำธร พฤกษานานนท์ อุปนายก สนจ. และ นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ร่วมเป็นวิทยากรในงาน
ช่วงต้นของการเสวนา นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยช่วงเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมาว่า “ในภาพรวมยังมีแนวโน้มคงที่ แต่ยังมิอาจวางใจได้ โดยหากพิจารณาเป็นรายภาคเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ยังมีจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง ได้แก่ สงขลา นครศรีธรรมราช กระบี่ ภูเก็ต ชุมพร พัทลุง สตูล ซึ่งช่วงเดือนที่ผ่านมาได้ใช้หลายมาตรการเพื่อเร่งเยียวยาสถานการณ์ โดยเฉพาะการลงพื้นที่ออกตรวจเชิงรุกด้วยรถพระราชทานตรวจวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษร่วมกับการแจกกล่องรอดตายไปแล้วหลายพันกล่อง สนับสนุนภารกิจ Home Isolation (HI) ที่สามารถติดตามอาการผู้ป่วยผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ ล่าสุดในรอบสัปดาห์นี้ยังได้รับการประสานเข้ามาจากหลายจังหวัด อาทิ พัทลุง ตรัง ปัตตานี นราธิวาส แจ้งความประสงค์ขอรับการสนับสนุนระบบกล่องรอดตายเพื่อใช้เตรียมความพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนที่เกรงกันว่าอาจจะรับมือกันไม่ไหวเช่นกัน ซึ่งเราประเมินสถานการณ์แล้วคาดว่าในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้านับจากนี้ เฉพาะภาคใต้เองน่าจะมีผู้ป่วยเข้าสู่ระบบ HI อีกประมาณ 8,000-10,000 ราย”
ทางด้าน ศ.นพ.กำธร พฤกษานานนท์ อุปนายก สนจ. กล่าวกับอาสาสมัครว่า “ขณะนี้กำลังจับตาดูการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนในต่างประเทศอย่างใกล้ชิด ซึ่งได้แพร่ระบาดไปแล้วอย่างรวดเร็วมากกว่า 60 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย ที่น่ากังวลคือแม้ว่าเราจะฉีดวัคซีนแล้วก็ยังมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อได้อยู่ แต่จะมีอาการน้อย หรือแทบจะไม่แสดงอาการ จึงไม่รุนแรงถึงชีวิต ดังนั้น การกักตัวแยกรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ทำ HI จึงเป็นแนวทางที่เหมาะสมและยังจำเป็นต้องได้รับการติดตามอาการอย่างใกล้ชิดเช่นกัน ในส่วนกล่องรอดตายที่ สนจ. ดำเนินการสนับสนุนภารกิจของสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรคอยู่นั้น เราได้เตรียมความพร้อมให้สามารถขึ้นระบบ Virtual Ward ได้ทันทีภายใน 24 ชั่วโมงที่ได้รับการร้องขอ และยังเปิดรับอาสาสมัครกล่องรอดตายรุ่นใหม่เข้ามาฝึกทักษะ อบรมเทคนิคการดูแลผู้ป่วยผ่าน E-Learning Platform ช่วยให้อาสาสมัครสามารถเรียนรู้ ดูซ้ำ ทบทวนเนื้อหาได้ตลอดภายในระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 30 นาที”
ผู้ที่สนใจร่วมเป็นอาสาสมัครกล่องรอดตายรุ่นใหม่ สมัครได้แล้ววันนี้ ถึง 15 ธันวาคม 2564 เพียงคลิกที่นี่ https://forms.gle/qFGD7BBYVoGktFyx9 และพบกันใน First Orientation ผ่านระบบ Zoom วันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคมนี้ เวลา 15.00 – 16.30 น. ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน ก็ดูแลพี่น้องคนไทยได้เหมือนกัน