จุฬาฯ จัดเวิร์คช้อปใหญ่ “CHULA AED FOR ALL” พร้อมดูแลผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน
ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “CHULA AED FOR ALL” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2567 ณ หอประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้ความรู้และฝึกอบรมการใช้เครื่อง AED ร่วมกับการทำ CPR ให้กับประชาคมจุฬาฯ ภาคีเครือข่าย และชุมชนรอบข้าง
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่อาจเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยใช้เครื่อง AED ซึ่งเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย ร่วมกับการทำ CPR เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิต ภายในงานมีกิจกรรมเสวนาเรื่องความสำคัญของ AED และการฝึกอบรมการใช้เครื่อง AED ร่วมกับการ CPR โดยได้รับเกียรติจากนายแพทย์สัณฐิติ ดะห์ลัน รักษาการผู้อำนวยการศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณกมล โรจน์เรืองเดช ผู้ชำนาญการด้าน AED (Product Specialist) วิทยากรอบรม CPR และ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับภาคประชาชน คุณศุภชัย ชุติกุศล CEO CU Engineering Enterprise และคุณอธิศีล ธัญญ์ ณ ป้อมเพชร กรรมการศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช ร่วมพูดคุยถึงแนวทางการวางแผนเฝ้าระวังในสถานการณ์ฉุกเฉินในประชาคมจุฬาฯ ด้วย
ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “เรื่องสุขภาวะเป็นสิ่งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจเป็นปัญหาใหญ่มากขณะนี้สำหรับประเทศไทย เรามีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจประมาณปีละ 70,000 คน ซึ่งเท่ากับว่าในแต่ละชั่วโมงจะมีผู้เสียชีวิต 8 คน ซึ่งจุฬาฯ เองก็ได้กำหนดนโยบายเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพและดูแลความปลอดภัยของประชาคมจุฬาฯ เพราะเราไม่อยากเห็นภาพที่ต้องสูญเสียคณาจารย์ บุคลากร หรือนิสิตไปด้วยโรคหัวใจ ย้อนไปเมื่อ 8 ปีก่อน มีนิสิตคณะครุศาสตร์เล่นกีตาร์อยู่แล้วถูกไฟช็อต ทำให้หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน แล้วก็รอดชีวิตมาได้ก็เพราะเครื่อง AED ผมคิดว่ามีหลายตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นถึงความสำคัญของเครื่อง AED ประจวบเหมาะกับช่วงที่เราจัดงาน CHULA107 CHIULA RUN CHULA 2024 ก็ได้หารือกับทีมว่ารณรงค์ร่วมกันบริจาคเครื่อง AED กันและตั้งเป้าท้าทายไว้ที่ 107 เครื่อง ตอนแรกก็ยังเกรงว่าจะได้ไม่ถึงเป้า แต่สิ่งหนึ่งที่จุฬาฯ ไม่เคยขาดเลยก็คือเรื่องของธารน้ำใจจากพี่ ๆ นิสิตเก่า และผู้บริจาคทุกท่านที่ช่วยระดมทุนกันมาอย่างถล่มทลายจนทำให้เราได้เครื่อง AED 161 เครื่องซึ่งเกินเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ สำหรับเงินบริจาคที่ท่านได้บริจาคให้มาเราจะนำไปจัดซื้อเครื่อง AED และนำไปติดตั้งในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและพื้นที่โดยรอบต่อไป “
โครงการดังกล่าวสามารถสามารถระดมทุนจัดซื้อเครื่อง AED จากทุกภาคส่วน รวมทั้งสิ้น 8,064,950.93 บาท โดยภายในงานยังมีตัวแทนผู้บริจาคร่วมมอบเงินบริจาค จำนวน 4 ราย ได้แก่ ชมรมนิสิตเก่าจุฬาฯ รุ่น CU2518 จำนวน 684,000 บาท กลุ่มนิสิตเก่าจุฬาฯ รุ่น CU2515 จำนวน 300,000 บาท บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด จำนวน 200,000 บาท และบริษัท อินเทลโนเวชั่น เคมิคอล จำกัด จำนวน 100,000 บาท