Banner 170

รู้ทัน โควิด-19 ใส่ใจผู้อยู่ร่วมกับเชื้อHIV “People Living With HIV” (PLWH)

ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ยังคงรุนแรงในหลายประเทศทั่วโลก การฉีดวัคซีนดูเหมือนจะเป็นทางออกที่ช่วยระงับยับยั้งวิกฤต หลายประเทศเริ่มให้วัคซีนกับประชาชนมาตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา จนเริ่มกลับมา “ถอดแมสก์” ใช้ชีวิตได้อย่างปกติ แต่สำหรับประเทศไทยที่เพิ่งเริ่มฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ (NCDs : Non-Communicable diseases) ประกอบด้วย ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง (COPD) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน ที่หากติดเชื้อโคโรนาไวรัสขึ้นมาอาจพบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงกว่าคนปกติ เฉกเช่นเดียวกับ “ผู้มีเชื้อ HIV” (Human Immunodeficiency Virus)

ำเำพเำอ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์โอภาส พุทธเจริญ รักษาการรองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ และหัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยกับ The Sharpener ในประเด็นสำคัญสะท้อนการใช้ชีวิตของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV (PLWH) ในช่วงโควิด-19 ไว้ในหลายประเด็น

้ิสาาา

New Normal New Safe Sex

นายแพทย์โอภาส เปิดบทสนทนากับเราโดยอรรถาธิบายสภาพความจริงอีกด้านของกลุ่ม PLWH ที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงในห้วงช่วงเวลาที่โควิดระบาดหนักเช่นนี้ “การรณรงค์ของหน่วยงานรัฐให้รักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อาจช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรคโควิด 19 ตามแนวคิด “New Normal New Safe SEX” แต่ความเป็นจริงแล้วรัฐควรแนะให้ผู้คนเริ่มตระหนักที่จะงดเว้นกิจกรรมการมีเพศสัมพันธ์กับคนไม่รู้จักร่วมด้วย จากการเปิดเผยของคลีนิคนิรนาม สภากาชาดไทย และหน่วยงานเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ระบุว่าผู้มารับยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ในกรณีฉุกเฉินหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือ “ยาเปป” (PEP : Post-Exposure Prophylaxis) ในช่วงที่ผ่านมาหลายเดือนมีตัวเลขสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญซึ่งแน่นอนว่าแม้ในช่วงโควิด-19 ระบาด การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันก็ยังไม่ได้ลดลงดั่งที่หวังใจกันไว้ นั่นเท่ากับว่าการรณรงค์ให้เว้นระยะห่างทางสังคมยังไร้ผล และที่มากไปกว่านั้นคืออัตราการติดเชื้อซิฟิลิส หนองใน และแผลริมอ่อน ก็ยังไม่ลดลงด้วยเช่นกัน ประกอบกับข้อมูลจากการสำรวจผู้มาเข้ารับบริการที่ “Silom Community Clinic @TropMed” คลินิกสุขภาพเพศย่านสีลมยังระบุด้วยว่าในช่วง Lock down ที่รัฐบาลพยายามขอความร่วมมือจากประชาชนให้ Work from Home กันนั้น กลับยิ่งกระตุ้นให้คนบางกลุ่มเกิดพฤติกรรมการใช้ Social Dating Application เพิ่มมากขึ้น หลายคนหาคู่เดทคู่นอนชวนมีเพศสัมพันธ์กันจากช่องทางนี้ ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงการติดเชื้อ HIV ไม่ลดลงอันมีเหตุมาจากการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน ซึ่งเท่ากับว่า การใช้ถุงยางอนามัยยังจำเป็นอยู่”

ิืา้

HIV กับ AIDS เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

เมื่อถึงประเด็นยอดฮิตลำดับต้น ๆ อย่าง “HIV” กับ “AIDS” นั้นเหมือนหรือต่างกันอย่างไร คุณหมอโอกาสยอมรับว่าเป็น FAQ ที่ถามกันเข้ามามากจริง ๆ  แต่ท่านก็ยังคงเพียรตอบเราด้วยความคุ้นเคยว่า “เอดส์ หรือ AIDS (Acquired Immune Deficiency Syndrome) เป็นกลุ่มอาการของโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HIV ซึ่งจะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาว ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำกว่าปกติ จนทำให้สามารถติดเชื้อโรคฉวยโอกาส (Opportunistic Diseases) ต่าง ๆ ได้ เช่น วัณโรค ปอดติดเชื้อ หรืออาจเป็นมะเร็งบางชนิดได้ง่ายกว่าคนปกติ ในขณะที่ภาวะการติดเชื้อ HIV คือการติดเชื้อไวรัส HIV ซึ่งสามารถเพิ่มจำนวนในเซลล์ของมนุษย์ เช่น เม็ดเลือดขาว เซลล์สมอง โดยเมื่อติดเชื้อ ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อต้านเชื้อไวรัสแต่ไม่สามารถกำจัดได้หมด เชื้อยังคงอยู่ในเม็ดเลือดและแพร่ต่อไปได้และจะทำลายเม็ดเลือดขาว Lymphocytes ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งในการควบคุมระบบภูมิต้านทานของร่างกาย ส่งผลให้ภูมิต้านทานลดลง ดังนั้น ภาวะเอดส์จะเป็นการนิยามถึงผู้มีเชื้อ HIV ที่มีอาการหนัก อาการรุนแรง ภูมิคุ้มกันต่ำจนติดเชื้อฉวยโอกาสและแสดงอาการป่วยออกมาชัดเจน ทุกวันนี้ทางการแพทย์ไม่แนะนำให้ใช้ทั้งสองคำ คำว่า “เป็นเอดส์” เพราะคำเหล่านี้ล้วนเป็นคำที่แสดงนัยยะของการตีตรา (Stigma) ข้อมูลในปัจจุบัน ผู้ป่วยเอดส์นั้นลดน้อยลงมาก เพราะว่ามียาที่มีประสิทธิภาพ หากรับรักษาได้เร็ว เข้าถึงยาได้มากขึ้น ผู้มีเชื้อ HIV ก็สามารถมีชีวิตที่ยืนยาว เป็นปกติเหมือนคนทั่วไปที่ไม่ติดเชื้อ โดยผู้ป่วยภาวะเอดส์ที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตนั้นลดน้อยลงมากแล้ว ส่วนการเรียกผู้ติดเชื้อว่า “ป่วยเป็นเอชไอวี” ก็นับว่าเป็นการตีตราเช่นกัน เราพยายามหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “ป่วย” เพราะคนมีเชื้อ หรือสารพันธุกรรมของ HIV ในร่างกายที่รับยาต้านไวรัสอยู่อย่างสม่ำเสมอและปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์นั้น สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ คำที่ดีคำหนึ่งที่จะใช้เรียกผู้มีเชื้อ HIV ในร่างกายไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ คือคำว่า “ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี” หรือเรียกเป็น

ภาษาอังกฤษว่า “People Living with HIV (PLWH)” ซึ่งแม้ว่าจะเป็นคำที่ไม่ค่อยคุ้นชิน แต่ก็เป็นคำที่ทำให้สังคมได้รับรู้ว่าคนที่มีเชื้อ HIV ในร่างกายนั้นไม่ได้ถือว่าเป็นโรคแล้ว แต่กลับใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเชื้อ ดำเนินชีวิตได้เหมือนกับคนปกติ มีอายุขัยเหมือนคนปกติ ทำงานใช้ศักยภาพได้เหมือนคนปกติ สามารถแต่งงานมีบุตรมีครอบครัวได้ โดยที่คู่ชีวิตและบุตรก็อาจจะมีโอกาสติดเชื้อน้อยมาก โดยผู้ที่รับยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องซึ่งที่มีปริมาณไวรัสในเลือดน้อยมากจนเรียกได้ว่า Undetectable นั้นจะมีอัตราการป่วยจากโรคฉวยโอกาสน้อยมาก และความสามารถการแพร่กระจายของเชื้อ HIV นั้นก็แทบจะเป็นศูนย์เช่นกัน”

ดแีิยย

กลุ่ม PLWH เสี่ยงติดโควิดง่ายกว่าจริงหรือ

“ปัจจุบันมีข้อมูลว่าผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV (PLWH) มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิดไม่แตกต่างจากคนที่ไม่มีเชื้อ โดยอุบัติการณ์การติดเชื้อนั้นจะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมเสี่ยงและการใช้ชีวิตในพื้นที่ที่เกิดการระบาด การมีเชื้อ HIV ในร่างกายไม่มีผลให้อัตราเสี่ยงติดเชื้อโควิดสูงขึ้น ในทางกลับกัน PLWH ที่ติดเชื้อโควิดนั้นมักเกิดจากการติดเชื้อจากการเอาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง อย่างไรก็ตามผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการมาก (Advanced Disease) มีปริมาณของเม็ดเลือดขาว CD4+ ต่ำ หรือมีปริมาณไวรัสสูง รวมถึง PLWH ที่ไม่ได้รับการรักษา การติดเชื้อโควิดก็มีโอกาสที่จะแสดงอาการรุนแรงกว่าผู้ป่วยอื่น ดังนั้นกลุ่ม PLWH จึงควรต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิดโดยเร็ว เพราะหากติดเชื้อจะมีโอกาสที่อาการจะรุนแรงจนนำไปสู่การนอนโรงพยาบาล (Admit) ใช้เครื่องช่วยหายใจ เพิ่มอัตราการเสียชีวิตได้ จึงถือเป็นกลุ่มเสี่ยงเท่ากับผู้ป่วยเบาหวาน ผู้มีน้ำหนักเกิน และผู้ป่วยโรคอื่นที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น โรคมะเร็ง โดย PLWH ที่ได้รับยาต้านไวรัสอยู่นั้นมีข้อบ่งชี้ว่าสามารถฉีดวัคซีนได้ หากได้รับการรักษาโดยทานยา

ต้านไวรัสตามใบสั่งแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และไม่มีอาการป่วยหรือโรคร้ายแรงชนิดอื่นแทรกซ้อนเพิ่มเติม และต้องมีภูมิคุ้มกันโดยประเมินจากปริมาณเม็ดเลือดขาว CD4+ ที่มากกว่า 350 Cell/mm3 ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรงเพียงพอต่อการตอบสนองของวัคซีนไม่แตกต่างจากคนไม่มีเชื้อ ในขณะเดียวกันเรื่องของผลข้างเคียง (Adverse Drug Effects) เช่น ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน อาการทางระบบประสาท จากการเก็บข้อมูลมาในระยะหนึ่งแล้วพบว่ามีอุบัติการณ์ไม่ต่างจากคนปกติ ขอให้ PLWH คลายความกังวลใจจากการรับวัคซีนป้องกันโควิดได้ โดยประสิทธิภาพของวัคซีนเมื่อฉีดแล้วนั้นจะเท่ากับคนทั่วไป ซึ่งแน่นอนว่าหากเกิดความกังวลใจก็สามารถปรึกษาแพทย์ที่ดูแลก่อนจะรับวัคซีนได้ และยังสามารถรับวัคซีนได้ทันทีเมื่อมีโอกาส” คุณหมอโอภาสตอบข้อคำถามนี้ได้อย่างสิ้นสงสัย

S 5136456 copy

ปรับมาตรการดูแล PLWH ช่วงโควิด ส่งยาต้านทางไปรษณีย์

จากความกังวลใจกันของหลายฝ่ายโดยเฉพาะกลุ่ม PLWH และคนใกล้ตัวที่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง ในช่วง ศบค. ประกาศล็อกดาวน์เมือง เกิดผลกระทบอย่างไรบ้างกับพวกเขา ซึ่งคุณหมอโอกาสได้ไขข้อข้องใจนี้ “การบริหารจัดการยาต้านไวรัส HIV ในช่วงโควิดระบาดในประเทศไทยนั้นไม่มีปัญหาอย่างที่กังวลกัน เว้นเพียงแต่เรื่องการเข้ามารับยาช่วงที่ทำการต้อง Lock down ซึ่งไม่สามารถทำได้สะดวกเช่นเคย เพราะการเดินทางข้ามจังหวัดเข้ามานั้นถูกจำกัด อย่างไรก็ตามหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และศูนย์บริการสุขภาพในชุมชนต่าง ๆ ก็พยายามช่วยทำให้ผู้รับยาเข้าถึงยาต้านได้ง่ายขึ้น โดย “คลีนิคนิรนาม สภากาชาดไทย” เองก็มีมาตรการเพื่อปรับปรุงการบริการให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น เพิ่มบริการจัดส่งยาต้านไวรัสทางไปรษณีย์ด้วยระบบขนส่งทางพัสดุให้กับ PLWH โดยสามารถส่งใบสั่งยาและผลการตรวจผ่านช่องทางออนไลน์มายังคลินิกเพื่อขอซื้อยาต้านไวรัสได้คราวละ 6 เดือน มีบริการโทรเวช (Telemedicine) ที่สามารถคุยกับหมอผ่านทางคอมพิวเตอร์ คนที่กินยาต้านแล้วอาการคงที่ก็พยายามยืดระยะเวลาติดตามรักษาให้นานออกไป เช่น บางคนที่ต้องติดตามอาการทุก 3 เดือน ก็ปรับเป็น 6 เดือนในช่วงที่มีโควิดหากมีอาการคงที่ เพื่อลดการเดินทางเข้ามาในพื้นที่แออัดเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ส่วนคนไข้ต่างชาติจะค่อนข้างมีปัญหามากเลยทีเดียว เพราะก่อนหน้านี้มีคนไข้ต่างชาติหลายประเทศนิยมเข้ามารักษาในประเทศไทย เพราะค่ายาต้านไวรัสบ้านเราถูกกว่าซึ่งรวมถึงประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวของ PLWH ด้วย เมื่อการเดินทางระหว่างประเทศถูกจำกัด คนไข้กลุ่มนี้จึงต้องซื้อยาในประเทศของตนซึ่งมีราคาที่สูงกว่า ทำให้ PLWH ต่างชาติได้รับผลกระทบในเรื่องนี้และเป็นกังวลใจในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของเขา”

S 5136454 copy

รัฐอุ้ม PLWH ตกงาน ยังใช้สิทธิ์รับยาต้านฟรี

“ในขณะเดียวกันเราพบว่ามี PLWH เริ่มได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างเช่นกัน ทำให้จากที่เคยซื้อยาต้านได้ด้วยเงินตนเอง เมื่อขาดรายได้ก็ไม่มีเงินซื้อหาได้เหมือนปกติ อย่างคนที่ทำงานในธุรกิจท่องเที่ยว ทางคลินิกก็แนะนำข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิ์ที่พวกเขาพึงมีอยู่แล้ว โดยสามารถรับยาต้านไวรัสได้ตามนโยบายของภาครัฐ ทุกวันนี้ช่องทางขอรับยาต้านในประเทศไทยเปิดกว้างขึ้นมาก คนไทยสามารถขอรับยาต้านได้ฟรีตามสิทธิ์ของตนเอง นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่ทราบในเรื่องนี้ หรือไม่ต้องการใช้สิทธิ์ในช่วงที่ยังมีความสามารถ

จ่ายเงินได้อยู่ ซึ่งเมื่อ“คลีนิคนิรนาม สภากาชาดไทย” ทราบ ก็จะช่วยแก้ปัญหาให้โดยส่งตัวกลับไปรักษาตามสิทธิ์ของแต่ละคน เพื่อช่วยให้เขายังได้รับยาต้านอย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่มีค่าใช้จ่าย เพียงนำประวัติการรักษาเก่าไปแจ้ง ก็สามารถไปรับยาต้านไวรัสตามสิทธิ์ได้เลย อย่างที่ทราบกันว่า PLWH นั้นต้องกินยาตลอดชีวิต ขาดยาไม่ได้หากขาดยาจะเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะการดื้อยา หมออยากบอกว่าขอเพียงแค่เราเปิดใจ ไม่ต้องกังวลเรื่องความยุ่งยาก คนไข้หลายคนทำงานในธุรกิจการบิน พอตกงานก็แค่เปลี่ยนแปลงสิทธิ์จากสิทธิ์ที่สามารถเบิกจ่ายได้ในสมัยก่อนไปเป็นสิทธิ์ประกันสังคม หรือบางคนตกงานก็สามารถไปรับยาได้ตามสิทธิ์ประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ ไม่จำเป็นต้องให้คนไข้มาเสียเงินตลอดชีวิตนะ อะไรที่ช่วยเหลือกันได้เราก็ต้องช่วยเหลือ” คุณหมอโอภาสกล่าวให้กำลังใจและฝากทิ้งท้ายถึง PLWH และผู้มีความเสี่ยงใหม่มาในโอกาสนี้

“หากเรายิ่งรู้เร็ว ได้รับการรักษาเร็ว ก็จะสามารถควบคุมอาการต่าง ๆ ได้ดี หากไปเสี่ยงมาก็ควรรีบตรวจเลือด ตรวจเสร็จแล้วหากรู้ผลว่าติดเชื้อก็เข้ารับการรักษาเลย ปัจจุบันเราสามารถเริ่มยาต้านไวรัสภายในวันเดียวกับวันที่รู้ผลเลือดได้เลยหากไม่มีข้อบ่งชี้อื่นร่วมด้วย ซึ่งใครที่รับยาต้านไวรัสอยู่ก็สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโควิดได้เช่นเดียวกัน ไม่ต้องหยุดยา ยาต้านไวรัสไม่มีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน โปรดลดความกังวลใจเรื่องผลข้างเคียงแล้วรีบไปฉีดกันได้ วัคซีนทุกตัวที่ใช้อยู่ในประเทศไทยมีประสิทธิภาพดีพอที่จะป้องกันการติดเชื้อรุนแรง และอาจมีผลพลอยได้ช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อและลดอาการรุนแรงของเชื้อ HIV ได้ด้วยนะ”

ิสื่ื

🌟ขอรับบริการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ที่ : คลีนิคนิรนาม สภากาชาดไทย โทร.062-726-9900 คลินิกบางรัก เขตสาทร กรุงเทพมหานคร โทร. 081-875-9904 

🌟ขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ที่สถานีบริการในชุมชน (Community Clinic) ใกล้บ้านท่าน

คลินิกชุมชนสีลม @ทรอปเมด โทร 02 644 6290

ศูนย์ Swing สะพานควาย โทร 02 115 0251

ศูนย์สุขภาพฟ้าสีรุ้งรามคำแหง โทร 02 731 6532 ถึง 3 , 064 156 1495

ที่มา

https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/34671

https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=17031&deptcode=brc&news_views=6569

https://hivhub.ddc.moph.go.th/nationalDATA.php

https://th.trcarc.org/th/clinic/prep-pep/386-prep-pep

Nuttapon Kijjathanakorn
Nuttapon Kijjathanakorn

Core Team
TedxYouth@Bangkok

Tags:
WordPress Cookie Notice by Real Cookie Banner