กู้วิกฤตหลังม่านแรงงานไทย จุฬาฯ จับมือ ก.แรงงาน จัดตั้งศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติ ยกระดับแรงงานไทยเทศทุกมิติ
ปัญหาแรงงานที่เรื้อรังมานับสิบปี เป็นปฐมเหตุให้เกิดความพยายามจากหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมกันสางปัญหานี้ ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาคือหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญที่นำองค์ความรู้ ทักษะ และงานวิจัยมาเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนในหลายประเด็น อาทิ การดูแลสิทธิและสวัสดิการแรงงาน ตลอดจนปัญหาการขาดแคลนแรงงานของประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่เปรียบดั่งเป็นวาระแห่งชาตินี้ โดยทำหน้าที่เป็นเข็มทิศนำทางบ่งชี้แก่นแท้ของปัญหา บอกเล่าความท้าทาย และพยากรณ์แนวโน้มที่ทั้งอาจส่งผลกระทบกับประเทศไทยอันมีปัจจัยมาจากแรงงาน โดย ศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Collaborating Centre for Labour Research, Chulalongkorn University ; CU-ColLaR) ซึ่งมีภาคีศูนย์ประสานงานกว่า 45 องค์กร จึงได้ร่วมกันศึกษาวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาแรงงานใน 16 หัวข้อ มีการเก็บรวบรวมข้อมูลรวม 2,473 ครั้ง ทั้งเรื่องสวัสดิการและคุณภาพชีวิตแรงงาน ค่าจ้างและรายได้ การจ้างงาน ว่างงาน เลิกจ้าง และอื่นๆ นอกจากนี้ CU-ColLaR ยังได้ดำเนินงานในกรอบงานวิจัยเกี่ยวกับแรงงานร่วม 10 กิจกรรม เช่น รูปแบบการจ้างงานและการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับงานในอนาคต: กรณีศึกษาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนในประเทศไทย ศึกษาและวิเคราะห์รูปแบบการจ้างงานและแนวทางการพัฒนาทักษะบุคลากรระดับองค์กรและระดับอุตสาหกรรม เก็บข้อมูลเชิงลึกจากการลงพื้นที่สัมภาษณ์ ณ สถาบันเทคโนโลยีสุมิพล (SIMTEC) แรงงานไทยเดินทางไปทำงานในไต้หวัน: แนวโน้มตลาดแรงงาน สภาพการทำงาน การคุ้มครองแรงงาน […]