ดราม่าบิทคอยน์.. ทำลายสิ่งแวดล้อม
หลายคนคงรู้จัก บิทคอยน์ (Bitcoin) หรืออย่างน้อยก็คงเคยได้ยินกันมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่เห็นเป็นเรื่องไกลตัวตราบใดที่ยังมีธนบัตรที่จับต้องได้ไว้ใช้จ่าย มีบัตรเครดิตในกระเป๋าไว้ “รูดปื๊ด” ยามที่ไม่อยากใช้เงินสด บางท่านมีสารพัดแอป (Application) ในสมาร์ทโฟนสำหรับการรับและจ่ายเงิน ใครจะมีหรือไม่มีบิทคอยน์ที่เป็นเงินดิจิตอลก็ไม่รู้สึกว่าจะตัองเดือดร้อนแต่อย่างใด แต่ถ้าบอกว่าบิทคอยน์กำลังทำลายสิ่งแวดล้อม ถ้าเป็นดังนั้นจริงเราทุกคนคงต้องเดือดร้อนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อีก แต่ข้อกล่าวอ้างนั้นเป็นจริงหรือเป็นเพียง “ดราม่า” กันแน่
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมานี้ นาย อีลอน มัสก์ ซีอีโอบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าเทสลา อิงก์ (Tesla Inc.) ที่ปัจจุบันครองตำแหน่งเศรษฐีอันดับ 2 จากการจัดอันดับ 10 มหาเศรษฐี” ที่รวยที่สุดในโลกปี 2021 โดย Forbes ประกาศว่าได้เข้าซื้อบิทคอยน์เป็นเงิน 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกาคิดเป็นเงินไทยประมาณ 46,500 ล้านบาทตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมกับการประกาศว่าจะเปิดทางให้ใช้บิตคอยน์ในการซื้อรถยนต์เทสลาของบริษัทที่ตัวเขาเองเป็นเจ้าของได้ ทำให้วงการบิทคอยน์ คึกคักราคาต่อเหรียญพุ่งขึ้นเกือบ 4% จาก 42,566 เหรียญสหรัฐอเมริกาไปที่ 44,138 เหรียญสหรัฐอเมริกาภายใน 5 นาทีหลังจากการทวีต (tweet) และยังคงพุ่งต่อไปจนทำสถิติสูงสุดที่ 59,523.9 เหรียญสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2564
แต่นายอีลอนมัสก์คนเดียวกันนี้ได้ออกมาให้ข่าวอีกครั้งว่า “We are concerned about rapidly increasing use of fossil fuels for Bitcoin mining and transactions, especially coal, which has the worst emissions of any fuel,…..” ทำนองว่าเขาเป็นห่วงเรื่องการทำเหมือง (บนคอมพิวเตอร์) เพื่อให้ได้มาซึ่งบิทคอยน์นั้นจะทำให้เกิดการใช้พลังงานที่มาจากถ่านหินซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะอย่างมหาศาล ซึ่งคำกล่าวเช่นนี้ก็อาจไม่ผิดนักเพราะมีข้อมูลว่า กระแสไฟฟ้าที่ถูกใช้ไปในการทำเหมืองบิทคอยน์นั้นเทียบได้กับการใช้พลังงานไฟฟ้าของบางประเทศเช่น สวีเดน หรือมาเลเซียทั้งประเทศเลยทีเดียว
ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมตัวเขาเองอาจต้องทบทวนแผนการใช้บิทคอยน์ในการทำธุรกรรมอีกครั้ง ทันทีที่ข่าวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปส่งผลให้ราคาบิทคอยน์ ปรับตัวร่วงลงกว่า 12 % ในวันที่12 พ.ค. ดราม่าบิทคอยน์ยังดำเนินต่อไปเมื่อนายอีลอนมัสก์เจ้าพ่อรายเดิมออกมาให้ข่าวอีกครั้งเมื่อ 24 พ.ค.นี้ว่าเขาได้คุยกับนักขุดบิตคอยน์ในอเมริกาเหนือ ซึ่งคนเหล่านั้นให้คำมั่นว่าจะร่วมกันเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับพลังงานที่ใช้ไปสำหรับการขุดบิตคอยน์ รวมทั้งมีแผนการใช้พลังงานหมุนเวียนในอนาคต ซึ่งตัวนายอีลอนมัสก์ดูเหมือนจะยอมรับข้อเสนอโดยออกมาให้ข่าวอีกครั้งว่าเขาจะพิจารณาเรื่องการใช้บิทคอยน์ในการทำธุรกรรมต่อไป ดราม่าครั้งหลังสุดนี้สามารถดึงราคาบิทคอยน์ให้กลับขึ้นมาบวกได้อีกเกือบ12% อย่างไรก็ตาม รายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ที่ผ่านมาของเทสลา ระบุว่า บริษัทได้ขายบิตคอยน์ที่ลงทุนไปแล้ว 10% และได้กำไรจากส่วนนี้มากถึง 101 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ไม่ว่าดราม่าเรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองบิทคอยน์ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเราโดยตรงจะเป็นไปตามที่มีการอ้างไว้หรือไม่ก็ตาม แต่เงินดิจิตอล (Digital) หรือที่ถูกต้องควรเรียกว่า เงินคริปโตเคอเรนซี่ (crypto currency) อันมีบิทคอยน์เป็นผู้นำสกุลเงินแบบใหม่นี้ก็ได้กำเนิดขึ้นแล้วในโลกและมีแนวโน้มว่าจะเป็นที่ต้องการและได้รับการยอมรับในตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนมากขึ้นตามกาลเวลาที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีเงินคริปโตเคอเรนซี่รุ่นน้องในชื่ออื่น ๆ พาเหรดกันออกมาอีกหลายสกุลเงินโดยมีราคามากน้อยแตกต่างกันไปขึ้นกับความนิยมยอมรับของตลาด โดยเงินดิจิตอลในปัจจุบันที่มีการซื้อขายในตลาดมีมากกว่า 5,000 สกุลเงิน และในแต่ละวันก็ยังมีสกุลเงินใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลาอีกด้วย นั่นอาจเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าเราอาจจะไม่สามารถหยุดยั้งการเกิดขึ้นของเงินคริปโตเคอเรนซี่ที่มาพร้อม ๆ กับการทำลายสิ่งแวดล้อมในเวลาเดียวกันได้เลย
อาจจะดีกว่าถ้าเราสามารถมองเห็นเหรียญทั้งสองด้าน การมองโลกตามความเป็นจริง การ “อยู่กับสิ่งที่มีไม่ไช่สิ่งที่ฝัน” พร้อมทั้งหากระบวนการบริหารจัดการที่เหมาะสมเพื่อการฟื้นคืนธรรมชาติ เช่น การใช้พลังงานสะอาดที่มาจากพลังงานหมุนเวียน การดำรงชีวิตแบบพอเพียงไม่มากไปหรือน้อยไปแบบสุดโต่ง ลดละความฟุ่มเฟือยในการใช้ชีวิต เป็นต้น ทั้งนี้สิ่งแวดดล้อมที่ยั่งยืนอาจไม่ได้เริ่มต้นด้วยการชี้นิ้วไปที่เงินบิทคอยน์ แต่เริ่มด้วยการชี้นิ้วกลับมาที่ตัวของพวกเราเองทุกคนมากกว่าก็เป็นได้
อ้างอิง:
https://edition.cnn.com/2021/05/17/investing/bitcoin-price-elon-musk-tesla-intl-hnk/index.html
https://www.prachachat.net/world-news/news-676225
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/937695