เปิดเคล็ดลับความสำเร็จ จุฬาฯ สมาร์ทซิตี้ ชวนดูคาราวาน Smart Mobility
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย สำนักงานจัดการทรัพย์สิน (PMCU) ขับเคลื่อนโครงการ “จุฬาฯ สมาร์ทซิตี้” (Chula Smart City) ผ่าน “SMART 4” นำนวัตกรรมอัจฉริยะ 4 มิติ ได้แก่ Smart Living, Smart Energy, Smart Environment และ Smart Mobility รองรับไลฟ์สไตล์ใหม่ให้ประชาคมจุฬาฯ กว่า 50,000 คน ที่ใช้ชีวิตบนพื้นที่กว่า 1.5 พันไร่ ใจกลางกรุงเทพฯ พร้อมสร้างคุณค่าต่อยอดให้ชุมชนและสังคม ชูจุดเด่นยานยนต์หลากรูปแบบตอบโจทย์ SMART MOBILITY
ผลงานนวัตกรรมยานยนต์ในกลุ่ม Smart Mobility มียานยนต์รองรับการสัญจรที่น่าจับตามองชวนให้ลองใช้อยู่ถึง 5 ผลงาน ได้แก่
1) รถโดยสารปรับอากาศขนาดเล็กภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula Pop Bus) ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า สานต่อแนวคิดลดมลภาวะตามโครงการนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียว ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนิสิต คณาจารย์ และบุคลากรจุฬาฯ รวมไปถึงชุมชนรอบข้างโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แบ่งเส้นทางบริการออกเป็น 5 สาย เพื่อลดการขับรถเข้ามาในมหาวิทยาลัยชั้นใน เชื่อมโยงระหว่างระบบขนส่งมวลชนมาสู่บริเวณมหาวิทยาลัยเพื่อลดการก่อมลภาวะ ซึ่งในปัจจุบันมีรถโดยสารปรับอากาศพลังงานไฟฟ้าให้บริการ 5 สาย ให้บริการตั้งแต่วันจันทร์ – เสาร์ เวลา 07.00 – 19.00 น. (วันเสาร์ให้บริการเฉพาะสาย 1 และ 2) นอกจากนี้ ยังมีแอปพลิเคชัน Chula Pop Bus ช่วยบอกตำแหน่งที่ตั้งของ Chula Pop Bus แต่ละคันแบบวินาทีต่อวินาที ทำให้การเดินทางผ่านจุฬาฯ สะดวกขึ้น
2) CU TOYOTA Ha:mo เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างจุฬาฯ กับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในโครงการแบ่งปันรถกันใช้ด้วยยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กในกรุงเทพมหานคร CU TOYOTA Ha:mo ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการในการเดินทางเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้าทั้ง BTS MRT และรถโดยสารประจำทาง ให้บริการทุกวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 7.00 – 19.00 น. โดยมีค่าธรรมเนียมการใช้บริการ 30 บาท ต่อ 20 นาทีแรก ภายหลังจาก 20 นาทีแรกคิดอัตราค่าบริการ 2 บาทต่อนาที
3) รถตุ๊ก ตุ๊ก ไฟฟ้า MuvMi เกิดจากการมองเห็นปัญหาช่องว่างของการเชื่อมต่อระหว่างขนส่งมวลชนขนาดใหญ่อย่าง BTS และ MRT ที่ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ในตรอกซอกซอย หรือสถานที่ที่ไม่ได้อยู่บนถนนเส้นหลักได้ จึงเกิดการผสมผสานระหว่างการใช้แอปพลิเคชันเรียกรถแบบ “On-Demand” คือ เรียกเมื่อไหร่ก็ได้ตามความต้องการ ไม่ต้องรอรอบเวลา ไม่ได้วิ่งตามเส้นทางประจำแบบที่เคยมีอยู่ และรูปแบบ “Sharing” ที่นำระบบเทคโนโลยีทันสมัยมาบริหารจัดการให้ผู้ที่จะเรียกรถไปในเส้นทางเดียวกันหรือบริเวณใกล้เคียงกันสามารถขึ้นรถคันเดียวกันได้จึงทำให้มีราคาที่ไม่แพง เหมาะสมกับค่าครองชีพยุคปัจจุบัน นักเรียนนักศึกษาและคนทำงานสามารถเข้าถึงได้ นอกจากแอปพลิเคชันแล้ว จุดเด่นอีกด้านของ MuvMi คือ การใช้รถระบบไฟฟ้า100% ในการให้บริการ รับ-ส่งผู้โดยสาร โดยรถไฟฟ้านี้ได้ผ่านการวิเคราะห์การชนร่วมกับสถาบันศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) จึงทำให้มั่นใจได้ว่าปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการรวมถึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
4) รถจักรยานสาธารณะแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Bike) เกิดขึ้นจากแนวคิดในการส่งเสริมการใช้จักรยานภายในมหาวิทยาลัย โดยร่วมกับโครงการจักรยานสาธารณะปันปั่น พร้อมระบบยืมคืนแบบอัตโนมัติโดยโครงการฯ เน้นการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ระบบสถานีจะใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ (โซล่าร์เซลล์) กล่องควบคุมจักรยาน และ ไฟส่องสว่างหน้า-หลัง ใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานที่ถูกสะสมโดยการปั่นจักยานผ่านไดนาโม ช่วยลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัวภายในมหาวิทยาลัย ลดมลพิษทางอากาศ อีกทั้งยังส่งเสริมสุขภาพร่างกายของนิสิตและบุคลากรให้แข็งแรงจากการปั่นจักรยาน
5) CU Covered Walkways & Sky Walk ทางเชื่อมสำหรับคนที่ไม่รีบหรือชอบเดินภายในจุฬาฯ โดยทางเดินมีหลังคาที่เชื่อมโยงอาคารเรียนทั่วมหาวิทยาลัย พร้อมขยายเส้นทางทำเป็น Sky walk เชื่อมต่อจุฬาฯ ผ่าน MBK จนถึงสถานีรถไฟฟ้า BTS สนามกีฬาอีกด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้กับทุกคนที่ต้องการเดินทางไปยังสถานที่ใกล้เคียงด้วยการเดิน ลดจำนวนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ภายในมหาวิทยาลัยที่เป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และยังส่งเสริมวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดีของนิสิต บุคลากรและบุคคลทั่วไปผ่านการออกกำลังกายด้วยการเดิน พร้อมปกป้องผู้ที่เดินเท้าจากฝนและแสงแดดที่รุนแรง
6) ViaBus – Transit Tracking & Navigation แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนในระบบ Android และ iOS ให้บริการด้านการติดตามและนำทางรถโดยสารแบบเรียลไทม์ เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเข้าถึงข้อมูลการเดินทางในระบบโดยสารสาธารณะต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น ตำแหน่งรถ สถานี(ป้าย) เส้นทาง ทำให้ผู้โดยสารสามารถตัดสินใจในการเดินทาง รวมถึงบริหารเวลาและวางแผนการเดินทางได้ดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากกว่า 1.7 ล้านคน