สิ่งที่คนไทยต้องรู้ เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 จากใบพืช
ตลอดระยะเวลากว่า 9 เดือนที่โลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ล่าสุด (22 ก.ย. 63) สถานการณ์ยังคงน่าเป็นห่วง มียอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นถึง 31,196,543 ราย ในจำนวนนี้รักษาตัวหายแล้ว 21,348,410 ราย และมียอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 962,793 ราย โดยอินเดียเป็นประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงที่สุดในโลก และเมื่อขยับเข้ามาใกล้ในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับไทยทั้งเมียนมาและมาเลเซียเองต่างยังคงต้องปิดประเทศและกำลังรับมือกับยอดผู้ป่วยสะสมที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นหลังเกิดการระบาดครั้งใหม่ ทางด้านฟิลิปปินส์เองก็มีสถิติยอดผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูงสุดถึง 3,447 ราย ทำให้ขณะนี้ยอดรวมผู้ติดเชื้อแดนตากาล๊อกมีทั้งสิ้น 290,190 รายแล้ว หันมาดูแดนอิเหนาอินโดนีเซียแม้จะมีแนวโน้มยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง แต่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมยังอยู่ในระดับสูงถึง 248,852 ราย โดยเมื่อดูสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้านของเราแล้ว แม้เราจะควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดไว้ได้อย่างเข้มแข็งผ่านมาตรการต่าง ๆ แต่ก็มิอาจจะอยู่รอดได้อย่างโดดเดี่ยว เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยนอกจากจะต้องพึ่งพาการส่งออกแล้ว ยังต้องพึ่งพาเม็ดเงินจากนักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติหลายแสนล้านบาทต่อปี
นอกจากการรักษาผู้ติดเชื้อจำนวนมากไปตามอาการเท่าที่จะมีองค์ความรู้และเวชภัณฑ์จะช่วยประคองสถานการณ์ไปได้ระดับหนึ่ง แต่การป้องกันผู้ที่ยังแข็งแรงดีอยู่อีกนับล้านคนให้มีภูมิคุ้มกันต่อโรคน่าจะเป็นความหวังของมวลมนุษยชาติที่ทุกคนเฝ้ารอ “วัคซีนป้องกันโควิด-19” จึงเป็นคำตอบที่ช่วยกอบกู้สถานการณ์ร้ายให้กลับกลายดี เราจึงได้เห็นความพยายามและความก้าวหน้าของการวิจัยและพัฒนาวัคซีนหลากรูปแบบจากหลายประเทศทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส จีน แม้ว่าเร็ว ๆ นี้จะมีข่าวดีจากรัสเซียที่ประกาศใช้วัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19“Sputnik-V” ไปแล้วเป็นชาติแรกของโลกก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ากำลังการผลิตวัคซีนจะสามารถตอบสนองได้ทุกความต้องการได้ทันทีทันใดในเมื่อพลเมืองโลกมีมากถึงเกือบ 7 พันล้านคน แล้วคนชาติใดกันเล่าจะเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ก่อน และคนไทยอย่างเรามีสิทธิ์จะได้รับวัคซีนกับเขาด้วยหรือไม่ ยังเป็นสิ่งที่หลายคนกำลังเฝ้าลุ้นกันอยู่
จนเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมามีอีกหนึ่งความคืบหน้าซึ่งเป็นความหวังที่พาให้คนไทยใจชื้น เมื่อสตาร์ทอัพสัญชาติไทย “ใบยา ไฟโตฟาร์ม” นำโดย รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ และ ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ คู่หู Co-founder พ่วงดีกรีอาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ สามารถผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากใบพืชได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก
The Sharpener จึงไม่อยากให้คุณพลาดอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญนี้ของวงการสาธารณสุขไทยที่อาจเป็นนิยามใหม่ของวงการพัฒนาวัคซีนโลก กับ “7 สิ่งที่คนไทยต้องรู้เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 จากใบพืช”
1. ใบยา ไฟโตฟาร์ม คือ สตาร์ทอัพสัญชาติไทย
บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด คือ บริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่ได้รับการบ่มเพาะจาก CU Innovation Hub จากผลงานในห้องปฏิบัติการวิจัยพัฒนาด้านการผลิตโมเลกุลโปรตีนจากพืช ผนวกเข้ากับองค์ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขของสองนักวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ “รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ”และ “ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ”
2. แกล้งใบพืชให้ผลิตโปรตีน
“แกล้งใบพืช” คือกระบวนการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากใบพืชของ ใบยา ไฟโตฟาร์ม ที่นักวิจัย ใช้พืชสร้างโมเลกุลของโปรตีนที่ต้องการเพื่อผลิตวัคซีน โดยเลียนแบบกระบวนการการติดโรคของพืชด้วยแบคทีเรียที่มีกลไกทำให้พืชสร้างโปรตีนที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตให้ตัวเอง ซึ่งวิธีการดังกล่าวได้รับการพัฒนาองค์ความรู้และการออกแบบการทดลองโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตโมเลกุลโปรตีนจากพืชโดยเฉพาะ
3. ใช้ใบพืชตระกูลยาสูบ สายพันธุ์ออสเตรเลีย
ใบพืชที่ ใบยา ไฟโตฟาร์ม นำมาใช้ผลิตวัคซีนคือใบพืชตระกูลยาสูบ สปีชีส์ N.Benthamiana เป็นสายพันธุ์เฉพาะจากออสเตรเลีย มีใบเยอะ วงชีวิตสั้น จึงสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็ว ทำให้สามารถนำมาผลิตโปรตีนได้ในปริมาณมากและรวดเร็ว
4. ยาสูบไทยใช้ป้องกันโควิด-19 ไม่ได้ ห้ามเคี้ยว กิน สูบ
ใบยาสูบไทยเป็นพืชคนละชนิดกับใบพืชที่บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด นำมาใช้ผลิตวัคซีน ซึ่งในกระบวนการผลิตโปรตีนจากใบพืชที่นักวิจัย “แกล้งใบพืช” นั้น เป็นเพียงการใช้พืชให้ผลิตโปรตีนสำหรับทำพวัคซีนโดยที่ในใบพืชแต่เดิมไม่มีสารสำคัญที่ใช้ป้องกันโควิด-19 แต่อย่างใด ในกรณีนี้ พืชจึงเปรียบเสมือนโรงงานที่มีเครื่องจักร หากไม่ได้ถูกป้อนคำสั่งจะไม่สามารถเดินเครื่องผลิตได้ ดังนั้น การนำใบยาสูบไทยมากิน เคี้ยว สูบ จึงไม่สามารถป้องกันโควิด-19 ได้อย่างที่หลายคนเข้าใจ
5. ทดสอบในสัตว์ทดลองสำเร็จแล้ว
ความคืบหน้าล่าสุด ใบยา ไฟโตฟาร์ม นำวัคซีนต้นแบบชนิดแรกจาก 6 ชนิดไปทดสอบในสัตว์ทดลอง ได้แก่ หนูขาวและลิง ผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจ วัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ปริมาณที่สูง เพียงการฉีดจำนวน 2 ครั้ง ทั้งนี้ ไม่พบอาการแพ้ มีตุ่มผื่นแดงหรืออาการอื่นใด แต่ยังต้องติดตามระดับภูมิคุ้มกันในลิงต่อไปอีก 6 เดือน เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปของวัคซีนว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ในระยะยาว
6. พร้อมพัฒนาสู่การทดลองในมนุษย์
แม้จะสามารถผลิตวัคซีนได้ในระดับห้องปฏิบัติการ แต่ขณะนี้ก็ยังไม่สามารถนำมาฉีดให้กับมนุษย์ได้ในทันทีตามหลักสากลและข้อตกลงที่องค์การอาหารและยาได้ระบุไว้ ใบยา ไฟโตฟาร์มยังอยู่ในขั้นตอนเจรจาจัดหาโรงงานผลิตวัคซีนจากใบพืชที่ได้มาตรฐาน GMP เพื่อให้เกิดความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัย และนำไปสู่ขั้นตอนทดสอบวัคซีนในมนุษย์ระยะที่ 1
7. คาดคนไทยจะได้รับวัคซีนปลายปี 2564
เมื่อสิ้นสุดขั้นตอนทดสอบวัคซีนในมนุษย์ที่มีสุขภาพแข็งแรงครบทุกระยะแล้ว จะนำไปสู่กระบวนการผลิตวัคซีนในระดับอุตสาหกรรมในประเทศต่อไป ซึ่งคาดการณ์ว่าปลายปี 2564 คนไทยจะเริ่มได้รับวัคซีนสำหรับการป้องกันเชื้อโควิด-19
แหล่งที่มาข้อมูล :
https://www.thebangkokinsight.com/434316/
https://edition.cnn.com/world/live-news/coronavirus-pandemic-09-13-20-intl/index.html